รีเซต

อังกฤษเตรียมเก็บดาวเทียมหมดอายุออกนอกวงโคจร ด้วยแขนกลหุ่นยนต์

อังกฤษเตรียมเก็บดาวเทียมหมดอายุออกนอกวงโคจร ด้วยแขนกลหุ่นยนต์
TNN ช่อง16
15 มีนาคม 2566 ( 12:03 )
64
อังกฤษเตรียมเก็บดาวเทียมหมดอายุออกนอกวงโคจร ด้วยแขนกลหุ่นยนต์

รัฐบาลสหราชอาณาจักรวางแผนเพื่อคัดเลือกบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อขึ้นไปจัดการดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานและขยะต่าง ๆ ที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ  โดยบริษัทที่ได้รับคัดเลือกจะได้นำเทคโนโลยีออกมาโชว์ในช่วงปี 2026 หรือในช่วงต้นปี 2027


ดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานจะถูกนำออกจากนอกวงโคจร เพื่อจะนำลงมาเผาทำลายในชั้นบรรยากาศ นอกจากดาวเทียมที่หมดอายุแล้วยังมีขยะอวกาศ เช่น ชิ้นส่วนจากจรวด อุปกรณ์ที่นักบินอวกาศเผลอทำหล่นและเศษสี ซึ่งขยะเหล่านี้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเตรียมการเผาทำลายก่อนที่ขยะเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคในการบินของนักบินต่อไปในอนาคต


บริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศที่องค์การอวกาศแห่งสหราชอาณาจักร (The UK Space Agency) ให้ความสนใจ มีอยู่ด้วยกัน 2 บริษัท คือ บริษัท เคลียร์สเปซ (Clearspace) ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และบริษัท แอสโตรสเกล (Astroscale) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในเมืองออกซฟอร์ดเชอร์ (Oxfordshire)


บริษัท แอสโตรสเกล (Astroscale) ได้ตั้งภารกิจที่มีชื่อเรียกว่า “คอสมิก” (COSMIC หรือ  Cleaning Outer Space Mission through Innovative Capture) โดยจะนำแขนกลหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายยานอวกาศขนาด 600-700 กิโลกรัม ที่มีแขนยื่นออกไปเพื่อใช้จัดการดาวเทียมที่หมดอายุแล้ว ด้วยการคว้าวัตถุที่ล่องลอยอยู่แล้วล็อกไว้และนำวัตถุนั้นไปจัดการทำลายทิ้งต่อไป โดยแขนกลดังกล่าวจะผลิตโดยบริษัท MDA ของแคนาดา ที่มีชื่อเสียงในการผลิตแขนกลที่มีชื่อว่า “แคนาดาอาร์มทู” (Canadaarm2) ซึ่งภารกิจคอสมิกนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบการออกแบบเบื้องต้น


ส่วนบริษัท เคลียร์สเปซ (Clearspace) นั้นจะทำงานโดยใช้ยานอวกาศที่มีลักษณะคล้ายอุ้งมือ คอยคว้าจับวัตถุที่ล่องลอยอยู่ ก่อนจะนำไปทำลายต่อไป


ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะก็ตาม บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เปิดตัวและปล่อยอุปกรณ์ออกไปในอวกาศที่ฐานปล่อยจรวดที่กำลังก่อสร้างในสหราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ประเทศสกอตแลนด์ และบริษัทที่ชนะจะมีหน้าที่จัดการดาวเทียมและขยะที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ ซึ่งมีแนวโน้มจะมีเพิ่มมากขึ้น เพราะคาดว่าจะมีการปล่อยดาวเทียมเข้าไปสู่วงโคจรอีกประมาณ 30,000 - 50,000 ดวง ภายในปี 2030


ที่มาของข้อมูล BBC 

ที่มาของรูปภาพ Clearspace

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง