รีเซต

ดีเดย์ 1 ส.ค.นี้! ฉีด LAAB ยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปต้านโควิด-19 ในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

ดีเดย์ 1 ส.ค.นี้! ฉีด LAAB ยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปต้านโควิด-19 ในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง
TNN ช่อง16
31 กรกฎาคม 2565 ( 15:47 )
180
ดีเดย์ 1 ส.ค.นี้! ฉีด LAAB ยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปต้านโควิด-19 ในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

นายกรัฐมนตรี หวั่น "โควิด-19" โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 แพร่ระบาดรวดเร็ว แนะประชาชนตรวจ ATK สังเกตอาการตนเอง ก่อนกลับเข้าทำงานหลังหยุดยาว ขณะเดียวกัน รัฐบาลเชิญชวนผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ขอรับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) เสริมภูมิคุ้มกันโควิด ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป  

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ประชาชนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ต่ำหรือผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ สามารถติดต่อเข้ารับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody  (LAAB) ได้ที่สถานพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2565 เป็นต้นไป 

พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ได้สำรวจเพื่อทำทะเบียนรายชื่อและจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การรับ LAAB ในแต่ละสถานพยาบาลทุกสังกัด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับภูมิคุ้มกันอย่างทั่วถึง 

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข รับมอบ LAAB ล็อตแรกแล้วจำนวน 7,000 โดส เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา จากที่สั่งซื้อไป 2.5 แสนโดส โดยที่เหลือจะทยอยจัดส่งเข้ามาจนครบภายในปีนี้


น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่แตกต่างจากวัคซีน โดยจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายระยะแรก 

เช่น ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าว สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการพิจารณาในการเสริมภูมิคุ้มกันโควิดด้วย LAAB ได้

ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับรายงานขณะนี้พบการแพร่ระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จึงขอให้ประชาชนเน้นปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข Universal Prevention อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้  

โดยเฉพาะ ผู้ที่เดินทางกลับเยี่ยมครอบครัว ไปพักผ่อนและท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ หรือเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน แนะนำก่อนกลับเข้าทำงาน ควรตรวจ ATK เฝ้าสังเกตอาการตนเอง หากพบอาการน่าสงสัยจะติดเชื้อ เช่น มีอาการไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ปวดศรีษะ หายใจลำบากก็ให้รีบตรวจ ATK ซ้ำ หากติดเชื้อก็จะได้เข้าสู่ระบบกระบวนการรักษาตามสิทธิ์ที่ตนเองมีอยู่ต่อไป.


ภาพจาก สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง