ทรัมป์ไม่สนโลกร้อน เดินหน้าขุดเจาะน้ำมันไม่ยั้ง นักสิ่งแวดล้อมกลั้นใจรอดูตอนจบ

แม้นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าสู่การเพิ่มปริมาณการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงการเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง
รายงานวิเคราะห์จากสถาบันวิจัย Rystad Energy ซึ่งเปิดเผยโดยสถาบัน IISD (International Institute for Sustainable Development) ระบุว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่ดำเนินอยู่และที่มีแผนจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ หลังจากที่ตัวเลขดังกล่าวลดลงในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ทรัมป์ประกาศ "ภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน" พร้อมเปิดพื้นที่บนบกและในมหาสมุทรเพื่อให้เอกชนขุดเจาะอย่างเสรี และได้ยกเลิกหรือปรับลดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 140 ฉบับ พร้อมยืนยันเป้าหมาย “Drill, baby, drill” หรือ “ขุดเจาะต่อไป” ที่เขาย้ำต่อสภาคองเกรสเมื่อต้นปีว่า “เรามีน้ำมันใต้ดินมากกว่าประเทศใดในโลก และเราจะไม่ปล่อยให้มันอยู่เฉย ๆ”
แม้ในช่วงเริ่มต้นไบเดนจะให้สัมปทานการขุดเจาะมากกว่าทรัมป์ แต่เขาก็เดินหน้าลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้บริษัทพลังงานปรับลดคาดการณ์การผลิตในอนาคต ซึ่งตรงข้ามกับทิศทางในยุคทรัมป์ที่เน้นขยายการผลิตอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากนโยบายภาษีของทรัมป์กำลังส่งผลย้อนกลับต่ออุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลเอง แม้น้ำมันและก๊าซจะได้รับการยกเว้นภาษีโดยตรง แต่ภาษีเหล็กและวัสดุสำคัญอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการก่อสร้างท่อส่งและแท่นขุดเจาะ กลับทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น นักลงทุนหลายรายชะลอการลงทุน ขณะที่ผู้บริหารบางรายให้สัมภาษณ์กับธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาดัลลัสว่า “ไม่เคยรู้สึกไม่มั่นใจในธุรกิจเท่านี้มาก่อนตลอดชีวิตการทำงานกว่า 40 ปี”
ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ เคยร่วงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าระดับที่บริษัทพลังงานจะทำกำไรได้ ก่อนจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตตามคำร้องขอของทรัมป์ ซึ่งกดดันราคาน้ำมันให้ต่ำลงอีก ส่วนด้านพลังงานสะอาด สถานการณ์ก็ไม่สู้ดีนักเมื่อรัฐบาลทรัมป์ระงับการอนุมัติโครงการพลังงานลมและแสงอาทิตย์บนพื้นที่ของรัฐบาลกลาง พร้อมขึ้นภาษีแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงสุดถึง 3,521% และโจมตีโครงการสนับสนุนพลังงานสะอาดว่าเป็น "การหลอกลวง"
ผลกระทบชัดเจนเกิดขึ้นแล้วในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ โดยมีโครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไปแล้วอย่างน้อย 16 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อมูลของกลุ่มธุรกิจ E2
แม้ว่าอุปสงค์ของน้ำมันและก๊าซทั่วโลกจะคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดในปี 2573 ตามการคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) แต่การเดินหน้าขุดเจาะในสหรัฐฯ ย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และอาจเร่งให้เกิดภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้น