UTP ปรับกลยุทธ์ดันยอดโต อัพสัดส่วนสินค้ามาร์จิ้นสูง
UTP ลดเป้ายอดขายปี 2565 ลงมาที่ระดับ 5.1 พันล้านบาท หลังราคาเศษกระดาษทั้งในและต่างประเทศลดลง คาดไตรมาส 4/2565 เป็นไฮซีซันธุรกิจยอดขายจะกลับมาแตะ 2 หมื่นตันต่อเดือน และเดินหน้าลงทุนเพิ่มกำลังผลิต พร้อมปรับกลยุทธ์ปี 2566 เน้นปริมาณขายสินค้าที่มีดีมานด์-มาร์จิ้นสูง
นายวัชชระ ชินเศรษฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UTP ผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษคราฟต์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทได้มีการปรับเป้าหมายผลการดำเนินงานใหม่เป็นที่ระดับ 5,109 ล้านบาท จากเดิมในช่วงต้นปีที่วางเป้าหมายไว้ที่ระดับ 5,700 ล้านบาท เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะด้วยเรื่องของราคาเศษกระดาษต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ระดับกว่า 270-275 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
*โค้งสี่ไฮซีซัน
แต่ในปัจจุบันลงมาเหลืออยู่ที่ระดับ 150-160 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้ราคาเศษกระดาษในประเทศมีการปรับตัวลดลงไปในทิศทางเดียวกัน โดยในช่วงต้นไตรมาส 3/2565 มีราคาอยู่ที่ระดับกว่า 7,000 บาทต่อตัน แต่ในปัจจุบันลดลงมาเหลือที่ระดับราว 6,200 บาทต่อตัน จากในช่วงไตรมาส 2/2565 ที่มีราคาอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 8,500 บาทต่อตัน ประกอบกับด้วยปริมาณเศษกระดาษที่ออกมาสู่ตลาดมีจำนวนมากขึ้นทำให้มีคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยกันมากขึ้น
อีกทั้งยังเป็นช่วงโลว์ซีซันของธุรกิจ เข้าสู่หน้าฝนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและการขนส่ง กดดันให้ปริมาณการจำหน่ายในช่วงไตรมาส 3/2565 ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ประมาณ 19,000 ตันต่อเดือน ในเดือนสิงหาคมปรับตัวลดลงมาเหลือที่ระดับรา 18,000 ตันต่อเดือน เป็นไปตามคำสั่งซื้อที่ลดลงมากว่า 20% แต่บริษัทจะพยายามรักษาระดับในช่วงเดือนกันยายนนี้ให้อยู่ที่ไม่ต่ำกว่าระดับ 19,000 ตันต่อเดือน
ทั้งนี้ ภายในช่วงไตรมาส 4/2565 ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของธุรกิจ คาดว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ ปริมาณการผลิตและจำหน่ายจะอยู่ที่มากกว่า 20,000 ตันต่อเดือนได้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาเศษกระดาษปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ราคาจำหน่ายของบริษัทอาจไม่สามารถปรับตัวได้รวดเร็ว เพราะยังเป็นต้นทุนราคาเศษกระดาษที่สูง ดังนั้นแม้ปริมาณการจำหน่ายจะปรับตัวลดลง แต่คาดว่าในแง่ของรายได้จะไม่ลดลง
ลุยครึ่งปีหลัง
สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2565 นี้ บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นในเรื่องของการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็จะเร่งระบายสต๊อกเศษกระดาษเก่าที่ซื้อไว้ก่อนหน้าในราคาที่สูงออก
บริษัทวางเป้าหมายจะขยายปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษคราฟต์สำหรับทำผิวกล่อง (Kraft Liner Board) ในปี 2566 ให้มีสัดส่วนเพิ่มเป็นมากกว่า 50% ของปริมาณการขายทั้งหมด จากสิ้นปี 2565 ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนที่ประมาณ 30-40% เพราะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสูง อีกทั้งยังให้มาร์จิ้นที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในสัดส่วนที่เหลือจะเป็นการจำหน่ายของกระดาษคราฟต์สำหรับทำลอนลูกฟูก (Corrugating Medium) อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่กว่า 90-95%
สำหรับแผนการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2565 บริษัทยังคงเดินหน้าโครงการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเตรียมเยื่อกระดาษให้เพิ่มอีก 200 ตันต่อวัน เป็น 1,000 ตันต่อวัน จากเดิมที่ทำได้ราว 800 ตันต่อวัน คาดจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในไตรมาส 1/2566 ทำให้คาดว่าปริมาณการจำหน่ายในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2566 จะอยู่ที่ 70,000 ตัน, 73,000 ตัน และ 75,000 ตัน ตามลำดับ และคาดว่ารายได้ในช่วง 3 ไตรมาสแรกในปี 2566 จะทำได้ที่ระดับ 1,540 ล้านบาท, 1,606 ล้านบาท และ 1,650 ล้านบาท ตามลำดับ