รีเซต

สถานีอวกาศ ISS เสี่ยงอันตราย หลังรัสเซียยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมเก่า

สถานีอวกาศ ISS เสี่ยงอันตราย หลังรัสเซียยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมเก่า
TNN ช่อง16
16 พฤศจิกายน 2564 ( 11:16 )
56

เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อวานนี้ (15 พฤศจิกายน) ประณามรัสเซียว่า รัสเซียได้ยิงทดสอบขีปนาวุธทำลายดาวเทียมเก่า 1 ดวงในลักษณะที่ทั้งอันตรายและไม่รับผิดชอบ อาจเป็นอันตรายต่อนักบินอวกาศหลายคนที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และเป็นภัยคุกคามผลประโยชน์ของทุกประเทศในโลกด้วย


พฤติกรรมที่อันตรายและขาดความรับผิดชอบของรัสเซียดังกล่าว จะเป็นอันตรายในระยะยาวต่อความมั่นคงในอวกาศนอกโลก และสหรัฐฯ จะร่วมกับประเทศพันธมิตร ตอบโต้การกระทำของรัสเซียนี้


ด้านเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร ระบุว่า การทดสอบขีปนาวุธต้านดาวเทียมที่ทำลายล้างของรัสเซียนั้น แสดงให้เห็นถึงความเมินเฉยต่อความมั่นคง ความปลอดภัยและความยั่งยืนของอวกาศ


---นักบินอวกาศ ISS เสี่ยงอันตราย---


ขณะที่มาร์ค แวนเด เฮย นักบินอวกาศของนาซา ซึ่งอยู่บน ISS เรียกการรับมือครั้งนี้ว่า “บ้า แต่ประสานงานกันได้ด้วยดี เป็นวิธีเชื่อมสายใยลูกเรือบนสถานีอวกาศที่ดี””


ด้านนักวิเคราะห์เตือนว่า นักบินอวกาศบน ISS ต้องเสี่ยงอันตรายจากเศษซากดาวเทียมเก่าของรัสเซีย รวมทั้งต้องเตรียมมาตรการระวังไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย หากเศษซากดาวเทียมหรือจรวดบินเข้าใกล้สถานีอวกาศ ISS


ด้าน BBC รายงานว่า รัสเซียได้ยิงทดสอบขีปนาวุธทำลายดาวเทียมเก่า 1 ในหลายดวงของรัสเซียเอง แต่ทำให้ดาวเทียมแตกออกเป็นเศษซากขนาดเล็กหลายแสนชิ้น ลอยอยู่ในวงโคจรของโลก และทำให้นักบินอวกาศบน ISS ต้องย้ายเข้าไปหลบอยู่แต่ภายในแคปซูล


---รัสเซียโต้ว่าไม่เสี่ยง---


สำหรับนักบินอวกาศบน ISS มีทั้งหมด 7 คน ซึ่งรวมถึงนักบินอวกาศรัสเซียเอง 2 คน อีก 4 คนเป็นอเมริกัน และอีก 1 คนเป็นเยอรมัน โดยสถานีอวกาศนานาชาติ ISS โคจรที่ความสูงประมาณ 420 กิโลเมตรเหนือโลก


แต่ทาง ‘รอสคอสมอส’ สำนักการบินอวกาศของรัสเซีย กล่าวโต้สหรัฐฯ ผ่านทาง Twitter ว่า วงโคจรของเศษซากดาวเทียม ที่ทำให้นักบินอวกาศบน ISS ต้องย้ายเข้าไปอยู่ในยานอวกาศนั้น เป็นมาตรการความปลอดภัยมาตรฐานปกติ และวงโคจรของเศษซากดาวเทียมเหล่านั้น ได้ลอยห่างออกไปจากวงโคจรของ ISS แล้ว และ ISS อยู่ในเขตกรีนโซน


ดาวเทียมรัสเซียที่ถูกทำลายครั้งนี้ มีชื่อว่า คอสมอส-1408 (Kosmos-1408) เป็นดาวเทียมจารกรรมเก่าของรัสเซีย ที่เริ่มใช้เมื่อปี 1982 หรือเกือบ 40 ปีก่อน และได้หยุดทำงานไปแล้วตั้งแต่หลายปีก่อน


---มีหลายประเทศมีศักยภาพโจมตีดาวเทียมได้---


สำนักข่าว BBC รายงานว่า หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย จีน และอินเดีย มีศักยภาพในการโจมตีดาวเทียมได้จากภาคพื้นดินอยู่แล้ว


สหรัฐฯ เริ่มทดสอบยิงขีปนาวุธต้านดาวเทียมตั้งแต่ปี 1959 ในตอนนั้นดาวเทียมยังเป็นเรื่องใหม่และหายาก


เมื่อปี 2007 จีนได้ทำลายหนึ่งในดาวเทียมที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว จนทำให้เกิดขยะอวกาศมากกว่า 2,000 ชิ้น และทำให้เป็นอันตรายต่อปฏิบัติสำรวจอวกาศต่าง ๆ ไม่เฉพาะต่อภารกิจของจีนเองเท่านั้น


ส่วนเมื่อปี 2019 อินเดียเคยยิงทำลายดาวเทียมของตนหนึ่งดวงที่อยู่ในวิถีวงโคจรต่ำของโลก โดยยิงด้วยขีปนาวุธจากพื้นสู่อวกาศ ขณะที่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัสเซียก็ได้ทดสอบยิงขีปนาวุธต้านดาวเทียมไปแล้วเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม การทดสอบยิงขีปนาวุธต้านดาวเทียมและการทำลายดาวเทียมนั้น มักจะถูกประณามเสมอเมื่อมีการทดสอบ เพราะทำให้เกิดมลพิษต่อสภาพแวดล้อมบนอวกาศสำหรับทุกคน


นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความยั่งยืนในระยะยาวของปฏิบัติการบนอวกาศ ที่มีความสำคัญต่อกิจกรรมเชิงพาณิชย์อย่างมหาศาล ทั้งการธนาคารและบริการ GPS ในขณะที่อวกาศก็มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุทธการสงคราม เช่น กองทัพสหรัฐฯ พึ่งพาดาวเทียมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการจับตาสิ่งที่เกิดขึ้นบนภาคพื้นดิน เช่น การชี้เป้ายุทโธปกรณ์ผ่านเลเซอร์และดาวเทียมในอวกาศ ตลอดจนใช้จับตาการปล่อยขีปนาวุธต่าง ๆและติดตามแสนยานุภาพของมัน

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Reuters



ข่าวที่เกี่ยวข้อง