รีเซต

กยท.ดัน 'สวนยางยั่งยืน' พัฒนาทั้งระบบ คิดใหม่ ทำใหม่ นักวิชาการฟันธง 4 องค์ประกอบตอบโจทย์

กยท.ดัน 'สวนยางยั่งยืน' พัฒนาทั้งระบบ คิดใหม่ ทำใหม่ นักวิชาการฟันธง 4 องค์ประกอบตอบโจทย์
มติชน
8 เมษายน 2565 ( 18:27 )
99
กยท.ดัน 'สวนยางยั่งยืน' พัฒนาทั้งระบบ คิดใหม่ ทำใหม่ นักวิชาการฟันธง 4 องค์ประกอบตอบโจทย์

ข่าววันนี้ เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ภายในงาน “มหกรรมยางพารา 2564” นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา มีการจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สวนยางยั่งยืน” ดำเนินรายการ โดย นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย

 

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า สาเหตุที่เกษตรกรไม่ทำสวนยางให้ยั่งยืน เป็นคำถามที่ กยท. ศึกษาและพยายามหาคำตอบมาโดยตลอด เพราะมีเกษตรกรเพียงหยิบมือที่ลงมือทำสวนยางให้ยั่งยืน ว่าเพราะเหตุใด ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าก่อนหน้านี้นโยบายของหน่วยงานภาครัฐอาจยังไม่ชัด และไม่เน้นย้ำความสำคัญ

 

“แต่ทุกวันนี้ ความสำคัญของสวนยางยั่งยืนชัดเจนมากขึ้น ได้รับการผลักดันเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เกิดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนายางทั้งระบบที่ส่งเสริมการทำสวนยางแบบยั่งยืน ซึ่งจะต้องปฏิบัติได้จริงเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดสวนยางยั่งยืนให้ได้ ต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ต้องคิดใหม่ ต้องใช้พื้นที่ในสวนยางอย่างเต็มที่ เพราะเราทำแบบเดิมอย่างที่ทำมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว” นายสุขทัศน์ กล่าว

 

ด้าน นายกำราบ พานทอง อุปนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า จากการศึกษาและพยายามขับเคลื่อนให้เกิดสวนยางยั่งยืนด้วยตนเองมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531 มีอุปสรรคหลายประการ ทั้งต้นทุน ราคา การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งแต่ละปัจจัยต่างทำให้วิถีชีวิตผู้คนต้องเปลี่ยนเสมอ ถ้าเกษตรกรยืนหยัดอยู่กับแค่การปลูกต้นยางอย่างเดียว สวนยางยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกพืชอื่นๆ ด้วย ไม่พึ่งพาแต่ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก จะเป็นทางออกที่นำไปสู่ประชาธิปไตยทางอาหารตามมา

 

“นิยามสวนยางยั่งยืนของผมคือ สวนยางที่นำมาซึ่งประชาธิปไตยทางอาหาร เราสามารถมีผักรอบบ้านกินได้ เจ็บป่วยก็มียาสมุนไพร ขาดปลาก็สามารถหาปลาริมห้วยหนองมากิน สวนยางยั่งยืนคือสวนที่เราเลือกได้ว่าจะกินอะไร และที่สำคัญปลอดสารเคมี นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นเกิดขึ้น โดยไม่ถูกแรงกดดันบังคับให้เลือกกิน” นายกำราบ กล่าว

 

 

 

นายบุญส่ง นับทอง ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ชาวสวนสามารถทำสวนยางยั่งยืนจนเกิดความมั่นคงได้ จากการปลูกต้นไม้อื่นๆ และทำการเกษตรอื่นๆ ควบคู่ไปกับการทำสวนยาง ต้นยางโตเร็ว เพราะมีต้นไม้อื่นสลัดใบเป็นปุ๋ย มีต้นสัก ต้นกันเกรา ต้นสะเดาเทียม ต้นไผ่ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เจริญเติบโตเร็ว โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานเกี่ยวกับการยางเดินทางมาเยี่ยมชมเพื่อนำไปเป็นแนวทาง ว่าจะนำไปใช้เป็นต้นแบบของสวนยางยั่งยืนทั่วประเทศต่อไป ถ้าสามารถทำให้เกิดความมั่นคงในสวนยาง จะเกิดความยั่งยืนทางอาหาร และจะนำมาสู่สวนยางยั่งยืนตามมาอย่างแน่นอน

 

ด้าน ผศ.ดร.สาระ บำรุงศรี อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า การเกิดสวนยางยั่งยืนได้ ต้องประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ความยั่งยืนเชิงระบบนิเวศ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 2.ความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจ รายได้ไม่ขาด 3.ความยั่งยืนทางสังคม มีความรู้สึกว่าตัวเองมีค่า ได้รับการยอมรับ และ 4.ความยั่งยืนเชิงสุขภาพ เจ็บป่วย สามารถรับประทานอาหารที่ดี มียารักษา ต้องมี 4 อย่างนี้จึงจะตอบโจทย์

 

“เกษตรกรต้องพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา อยากเปลี่ยนแปลง อยากเชื่อมโยงกับเครือข่าย และจะทำให้เกิดความคิดที่จะทำสวนยางยั่งยืน เกษตรกรที่ไม่หมั่นเรียนรู้ จะไม่มีความคิดอยากทำสวนยางยั่งยืน เกษตรกรเหล่านี้จะไม่เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ และหากไม่เกิดความภาคภูมิใจ ต่อไปลูกหลานก็จะไม่กลับมาทำสวนยางอีกต่อไป” ผศ.ดร.สาระ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการเสวนา “สวนยางยั่งยืน” ภายในงานยังมีงานเสวนาอีก 2 เวทีที่ไม่ควรพลาด ทั้งเสวนา ‘นวัตกรรมยางพาราและอนาคตยางพาราไทย’ และ เสวนา ‘วิกฤตการณ์โควิดกับวิถีชีวิตชาวสวนยาง’ ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางมาร่วมรับฟังได้ที่ ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงรับชมสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายภายในงาน ในวันที่ 9-10 เมษายนนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง