รีเซต

"อาเซียน"เห็นพ้อง ดีลภาษีทรัมป์ทวิภาคี ห้ามกระทบเศรษฐกิจสมาชิกรายอื่น

"อาเซียน"เห็นพ้อง ดีลภาษีทรัมป์ทวิภาคี ห้ามกระทบเศรษฐกิจสมาชิกรายอื่น
TNN ช่อง16
28 พฤษภาคม 2568 ( 10:59 )
11

"อาเซียน" บรรลุข้อตกลงร่วมกัน การเจรจาภาษีทรัมป์ในระดับทวิภาคีของทุกประเทศในกลุ่ม 

จะต้องไม่กระทบเศรษฐกิจของชาติสมาชิกรายอื่น 


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน กล่าวว่า ผู้นำอาเซียนได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ระบุว่า ข้อตกลงทวิภาคีใดๆ ที่ชาติสมาชิกอาเซียนอาจจัดทำกับสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับภาษีนำเข้า จะต้องไม่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ


ประธานอาเซียน กล่าวว่า เป็นฉันทามติในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 46 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  ให้ข้อตกลงใดๆก็ตาม กับสหรัฐฯ จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของภูมิภาค


ทั้งนี้การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การค้าโลกกำลังเผชิญกับความผันผวน และการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ครั้งใหญ่ เมื่อต้นเดือนเมษายน 2568 และสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) นับเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากมาตรการดังกล่าว โดย 6 ประเทศในภูมิภาคกำลังเผชิญกับการจัดเก็บภาษีระหว่าง 32%-49% ในเดือนกรกฎาคม หากการเจรจาเพื่อลดภาษีไม่ประสบความสำเร็จ


นายอันวาร์กล่าวว่า แม้เราจะเดินหน้าการเจรจาทวิภาคี แต่ที่ประชุมมีฉันทามติว่าจะต้องมีความเข้าใจร่วมกันภายในอาเซียนว่า การตัดสินใจใดๆ ไม่ควรส่งผลเสียต่อประเทศสมาชิกอื่น เราต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชากร 650 หรือ 660 ล้านคนในอาเซียน


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ( 26 พฤษภาคม 2568 ) มีรายงานว่านายอันวาร์ในฐานะผู้นำอาเซียน ได้ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เพื่อขอจัดการประชุม "ผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ" เกี่ยวกับมาตรการภาษีนำเข้า

ทั้งนี้ปัจจุบันนี้ "อาเซียน" ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี GDP) รวมกันกว่า 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังอยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคงเมื่อเทียบกับสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของภูมิภาค และเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจ


อาเซียนยังได้เผยแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี เพื่อรวมเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยระบุว่าการดำเนินธุรกิจตามปกติไม่เพียงพออีกต่อไป นอกจากนี้ยังได้มีการหารือด้านเศรษฐกิจร่วมกับผู้นำประเทศกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) และจีน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง จีนเข้าร่วมด้วย


ขณะที่ภายในงานเลี้ยงค่ำเมื่อวานนี้ (วันที่ 27 พฤษภาคม 2568) นายกรัฐมนตรีของจีน ได้กล่าวเรียกร้องขอให้ชาติอาเซียนและประเทศสมาชิกจีซีซี ยกเลิกกำแพงภาษี และขยายการค้าเสรี เพื่อตอบโต้กระแสกีดกันทางการค้า (Protectionism) และการดำเนินนโยบายฝ่ายเดียว (Unilateralism)  


โดยนายหลี่กล่าวว่า เราทุกคนต้องยืนหยัดปกป้องระบบการค้าพหุภาคี โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลางหลัก และส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมตลาดโลกที่มั่นคงมีเสถียรและเป็นระเบียบเรียบร้อย  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง