รีเซต

กทม.เตือนกลุ่มเปราะบาง งดออกจากบ้านช่วงค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

กทม.เตือนกลุ่มเปราะบาง งดออกจากบ้านช่วงค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
มติชน
17 ธันวาคม 2564 ( 15:28 )
57
กทม.เตือนกลุ่มเปราะบาง งดออกจากบ้านช่วงค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

วันนี้ (17 ธันวาคม 2564) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า กทม.ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลในส่วนที่รับผิดชอบเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ในส่วนของโรงเรียนในสังกัด กทม. สำนักการศึกษาประสานสำนักงานเขตแจ้งแนวทางการเตรียมความพร้อมดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยให้งดการจัดกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภทในห้วงเวลาที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การออกกำลังกายหรือเรียนวิชาพลศึกษา ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนภายในห้องเรียน หรือห้องประชุมแทน พร้อมทั้งให้ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถพิจารณาสั่งปิดสถานศึกษาในสังกัดกทม.

 

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กรณีสถานการณ์ค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน โดยมีแนวทาง ดังนี้ ค่าระดับปริมาณฝุ่น 0 – 39 ไมโครกรัม/ลบ.ม. หมายถึง คุณภาพอากาศดี เปิดการเรียนการสอนปกติ ค่าระดับปริมาณฝุ่น 40 – 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. หมายถึง คุณภาพอากาศพอใช้ เปิดการเรียนการสอนปกติ แต่เด็กเล็กควรงดกิจกรรมกลางแจ้งรวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้สวมหน้ากากอนามัยนอกอาคารเรียน และการเดินทางระหว่างบ้านและโรงเรียน ค่าระดับปริมาณฝุ่น 51 – 75 ไมโครกรัม/ลบ.ม. หมายถึง คุณภาพอากาศเริ่มมีผลเสียต่อสุขภาพ เปิดการเรียนการสอน โดยงดกิจกรรมกลางแจ้งและสวมหน้ากากอนามัยนอกอาคารเรียน และการเดินทางระหว่างบ้านและโรงเรียน จัดให้มี Safe Zone เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในโรงเรียน ค่าระดับปริมาณฝุ่น 70 – 75 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ให้ใช้ดุลยพินิจในการปิดสถานศึกษา ตามระเบียบ กทม.ว่าด้วยการสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวเนื่องจากเหตุพิเศษ พ.ศ.2541 ตามอำนาจ ดังนี้ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครั้งละไม่เกิน 3 วัน ผู้อำนวยการเขต ครั้งละไม่เกิน 7 วัน ค่าระดับปริมาณฝุ่น 76 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ขึ้นไป หมายถึง คุณภาพอากาศมีผลเสียต่อสุขภาพ แบ่งเป็น ค่าระดับปริมาณฝุ่น 76 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ขึ้นไป ครอบคลุมพื้นที่ 2 – 5 เขตปกครอง ให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนัก ครั้งละไม่เกิน 15 วัน และค่าระดับปริมาณฝุ่น 76 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ขึ้นไป ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 5 เขตปกครอง ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ในการสั่งปิดสถานศึกษา นอกจากนี้ เมื่อพบค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานให้ทุกโรงเรียนส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่นละออง PM2.5 และฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารเรียนอย่างต่อเนื่อง

 

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมในการจัดพื้นที่ปลอดภัย หรือห้องปลอดฝุ่นในสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง อาทิ ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียน หรือชุมชน สำนักพัฒนาสังคม ดำเนินการประสานผู้เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดพื้นที่ปลอดฝุ่นในสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง ดังนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. ในพื้นที่ 45 สำนักงานเขต ได้จัดส่งผู้แทนอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ในการจัดการตนเองจากฝุ่น PM 2.5 ณ สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย เพื่อเสริมสร้างความรู้แก่ครูอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก และสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดหรือเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง กำชับให้ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม.ปฏิบัติตามแผนประชาสัมพันธ์แนวปฏิบัติในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยเคร่งครัด และงดการทำกิจกรรมกลางแจ้งกรณีมีค่าฝุ่นเกินมตรฐาน หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมใส่หน้ากากเพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงการเช็ดทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศและพัดลมภายในศูนย์ฯ อย่างสม่ำเสมอ

 

“ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง ดำเนินการตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ดังนี้ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุ ติดตามสถานการณ์ และป้องกันดูแลตนเองจากฝุ่น PM 2.5 ด้วยการสวมหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM 2.5 ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง และจัดเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ในการทำกิจกรรมและฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดการสะสมฝุ่นต่อเนื่อง และบ้านผู้สูงอายุบางแค 2 ดำเนินการตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ดังนี้ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยให้ออกกำลังกายในอาคาร หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลการสวมหน้ากากที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 และสวมแว่นเพื่อป้องกันฝุ่นเข้าตา ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในห้องนอนผู้สูงอายุ เพื่อช่วยกรองอากาศให้สะอาดมากขึ้น จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นโรคภูมิแพ้ งดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดมลพิษภายในห้อง เช่น จุดเทียน จุดธูป ทำความสะอาดบริเวณ และอุปกรณ์สม่ำเสมอ โดยเฉพาะที่เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น พรม หนังสือ ตุ๊กตา เครื่องปรับอากาศและแผ่นกรองอากาศทุกเดือน และล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

 

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สำนักการแพทย์ ได้จัดเตรียมมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวัง ดูแล และป้องกันผลกระทบสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 โดยจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ เตรียมหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 มคก./ลบ.ม. และสั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศที่โรงพยาบาลตากสิน โทร. 02 437 0123 (วันจันทร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.) โรงพยาบาลสิรินธร โทร.02 328 6900 (วันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น.) โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร. 02 289 7198 (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.00 น.) และโรงพยาบาลกลาง โทร.02 225 1354 (วันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.30 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก พร้อมประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้ง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

 

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.ได้บูรณาการความร่วมมือกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน และห้ามใช้รถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจะได้ประสานจังหวัดปริมณฑลและใกล้เคียง ประกอบด้วย ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร และนนทบุรี เพื่อขอความร่วมมือในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และควบคุมกำกับดูแลไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่ป่า ชุมชนเมือง พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ริมทาง เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนหมั่นตรวจเช็กสภาพรถ และดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ไม่นำรถยนต์ที่มีควันดำมาใช้งานบนท้องถนน ไม่จอดรถริมทางกีดขวางการจราจร ดับเครื่องยนต์ทุกครั้งที่ไม่ได้ขับ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง