รีเซต

หลายชาติหวั่นเข้าไม่ถึงวัคซีนโควิด-19 หลังมหาอำนาจดีลพิเศษบริษัทยา

หลายชาติหวั่นเข้าไม่ถึงวัคซีนโควิด-19 หลังมหาอำนาจดีลพิเศษบริษัทยา
TNN ช่อง16
25 มิถุนายน 2563 ( 18:43 )
144

วันนี้ (25 มิ.ย.63) แม้ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก และบรรดาผู้นำโลก เช่น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ได้ออกมาเรียกร้องให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก แต่ "เดอะ เซาธ์ ไชนา มอร์นิ่งโพสต์" สื่อของฮ่องกงรายงานว่า มีหลายประเทศที่กำลังเจรจาสิทธิในวัคซีนกับบริษัทยาต่างๆ

หนึ่งในวัคซีนที่กำลังจะพัฒนาสำเร็จ เป็นของกลุ่มนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท AstraZeneca มีกำหนดแจกจ่ายให้ชาวอังกฤษได้ในเดือนกันยายนนี้ โดยรัฐบาลอังกฤษได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัทเมื่อเดือนที่แล้ว ในการผลิตวัคซีน 30 ล้านโดสภายในเดือนกันยายน และอีก 70 ล้านโดสในปีต่อมา

ขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯได้ให้งบประมาณสนับสนุนการวิจัยนี้ ด้วยข้อแลกเปลี่ยนที่ว่า สหรัฐฯจะต้องได้วัคซีน 300 ล้านโดสเช่นกัน

และเมื่อต้นเดือนนี้เอง รัฐบาลฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ได้จัดตั้ง พันธมิตรวัคซีนอย่างครอบคลุม หรือ  Inclusive Vaccine Alliance เพื่อเร่งกระบวนการพัฒนาวัคซีน และทั้งสี่ชาติระบุว่า ต้องการให้บริษัทยาต่างๆ ตกลงว่า สหภาพยุโรปต้องได้เข้าถึงวัคซีนหรือยาใดๆก็ตาม ในราคาที่ย่อมเยา

ด้าน แคนาดา บราซิล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ตกลงที่จะเป็นประเทศเจ้าภาพโครงการทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ของบริษัทสัญชาติจีน 3 บริษัท ซึ่งรัฐบาลทั้งสามชาติอาจกำลังเจรจาให้วัคซีนนั้นได้รับการแจกจ่ายให้กับประเทศตนด้วย

ทั้งนี้ บริษัทของจีน ทั้ง CanSino Biologics, Sinovac Biotech และ China National Biotec Group ต้องหาประเทศเจ้าภาพในการทดสอบวัคซีน เพราะในจีนมีกรณีการติดเชื้อของไวรัสโคโรนาที่มียังชีวิต เหลืออยู่น้อย ในช่วงเวลาที่มีการเริ่มทดสอบขั้นตอนดังกล่าว  

อย่างไรก็ตาม การตกลงของประเทศต่างๆและบริษัทยา ทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่สถานการณ์ “ชาตินิยมวัคซีน” ขึ้น

จาง ลี่ ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมยุทธศาสตร์ ที่ Gavi, the Vaccine Alliance ระบุว่า หากแต่ละประเทศรีบลงนามข้อตกลงทวิภาคีกับบบรรดาผู้ผลิตยาในช่วงนี้ จะนำไปสู่สถานการณ์ที่ว่า ประเทศที่มีรายได้น้อย หรือไม่มีทรัพยากร จะไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ โดยเฉพาะวัคซีนที่จะออกมาในกลุ่มแรกๆ

จาง ลี่ กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนนั้นมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การวิจัยพัฒนา การผลิต การจัดหา และการแจกจ่าย ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นคือภาวะชาตินิยมวัคซีน

นอกจากนี้ นายลี่ยัง ระบุด้วยว่า มีความท้าทายในเรื่องของการทำให้วัคซีนราคาย่อมเยาด้วย สิ่งสำคัญสุดควรจะมีการรวบรวมความต้องการของทุกประเทศ และรวมฐานการผลิตเพื่อผลิตขนานใหญ่และแจกจ่าย น่าจะเป็นการดีกว่า การจับคู่ประเทศและบริษัทผลิดเอง หรือต่างคนต่างทำงาน

ในขณะที่ หลี่ อี้หนัว ผู้อำนวยการประจำประเทศจีนของ มูลนิธิบิล และเมลินดา เกตส์ ระบุว่า เทคโนโลยีอาจเข้ามามีส่วนในการช่วยแก้ปัญหา เพื่อหาสมดุลระหว่าง ความต้องการภายในประเทศ กับการทำให้ทุกประเทศได้เข้าถึงวัคซีนในราคาที่สมเหตุสมผลได้

หลี่ อี้หนัว มองกล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่ทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนในทันทีที่พัฒนาวัคซีนสำเร็จ แต่ชาติต่างๆ ควรประมวลความต้องการ และแจกจ่ายวัคซีนเป็นระยะๆ โดยเริ่มกับประชากรกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์ก่อน ซึ่งในเรื่องนี้ สามารถใช้เทคโนโลยีในการช่วยออกแบบการผลิตที่มีประสิทธิผลสูงสุด ภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ได้

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง