รีเซต

โออาร์ ดัน โอไรออน ตามล่าธุรกิจใหม่กวาดลูกค้าทุกกลุ่ม

โออาร์ ดัน โอไรออน ตามล่าธุรกิจใหม่กวาดลูกค้าทุกกลุ่ม
มติชน
4 เมษายน 2565 ( 21:31 )
73

น.ส.ราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการโอไรออน (Orion) เปิดเผยว่า ปลายปีนี้(พฤศจิกายน-ธันวาคม2565) โออาร์เตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมทุกอย่าง ออล อิน วัน เพื่อตอบโจทย์ทุกกิจกรรม ทุกความต้องการ และช่วยสนับสนุนร้านค้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครบวงจร เพื่อให้คนเข้ามาใช้บริการโออาร์มากขึ้น จากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการสถานีบริการพีทีที สเตชั่นวันละ 2.5 ล้านราย แต่แอพนี้ จะไม่ใช่แค่เพิ่มผู้ใช้บริการในพื้นที่ปั๊มเท่านั้น ยังเพิ่มในส่วนของออนไลน์มากขึ้นด้วย

 

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ร้านค้าต่างๆ ดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะมีระบบต่างๆ ช่วยให้ลดต้นทุนได้ และที่สำคัญผู้บริโภคต้องมีความสุขได้รับบริการที่หาที่อื่นไม่ได้ และในอนาคตแอพพลิเคชั่นนี้ ยังเปิดกว้างการเชื่อมโยงกับพันธมิตรอื่นๆบนโลกออนไลน์ที่หลากหลายบริการมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค

 

ทั้งนี้การดำเนินการแอพดังกล่าว จะแบ่งเป็น 4 ระยะ ทุกระยะตั้งเป้าเพิ่มร้านค้า และผู้ใช้บริการ เพิ่มขึ้น 2 เท่า ระยะแรกเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 ตั้งเป้าหมายร้านค้าจะมาร่วมในแอพหลักหมื่นแห่ง มีสมาชิกใช้บริการ 5 แสนราย จะเน้นการทำวอลเล็ต ออกคูปองต่างๆ จะหาโปรโมชั่นที่หาที่ไหนไม่ได้ ระยะ 2 ปี 66 เน้นการใช้งานจองล่วงหน้าบุคกิ้งบริการต่างๆ ระยะ 3 ปี 67-68 เช่น การซ่อมรถ ฟิท ออโต้ ระยะ 4 ปี 69-70 ทำอีคอมเมิร์สเต็มรูปแบบ โดยงบประมาณที่ใช้จะอยู่ในแผน 5 ปี (65-69) ของโออาร์ ที่มีวงเงินประมาณ 93,000 ล้านบาท

 

“แอพฯจะต้องตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของคน และทำให้ร้านค้าต่างๆ ดีขึ้น ต้องใช้ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนหลับก็ยังฝันถึงแอพของเรา ตื่นมาจองอเมซอนได้ จองซ่อมรถฟิทออโต้ จะไปเที่ยว เปิดดูรีวิว จองบริการต่างๆ ได้ทั้งหมด เราจะร่วมกับพันธมิตรต่างๆ” น.ส.ราชสุดากล่าว

 

สำหรับภารกิจใหญ่ของโอไรออน ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจของโออาร์ ทำหน้าที่ตามล่าหาธุรกิจนิว – เอสเคิร์พ ให้กับโออาร์ ไม่ได้เน้นการลงทุนในลักษณะของเวนเจอร์ แคปปิตอล ที่เป็นสตาร์ตอัพอย่างเดียว แต่จะอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “Empowering All Toward Inclusive Growth” ที่เป็นการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยสายงานที่อยู่ภายใต้การดูแลถูกจัดวางโครงสร้างงานออกเป็น 7 ส่วนสำคัญ คือ

 

1. โมบิลิตี้ การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ ไม่ใช่แค่น้ำมัน แต่อาจจะเป็นพลังงานในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เป็นต้น

 

2. ท่องเที่ยว เน้นพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เจาะชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่มีของดี วิวสวย แต่อาจจะไม่มีประสบการณ์ในการทำทัวร์ จะเข้าไปหากลไกพัฒนาให้เกิดขึ้นได้จริง

 

3. อาหารและเครื่องดื่ม เน้นพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิตอลที่เพิ่มศักยภาพการดำเนินการธุรกิจร้านอาหาร

 

4. เฮลท์ แอนด์ เวลเนส เน้นพัฒนาธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิตอลที่ให้บริการในธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านเวลเนส

 

5. การสร้างพลังให้กับเอสเอ็มอี เน้นพัฒนาธุรกิจที่แก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง คิดค้นระบบอื่นๆ ที่ช่วยร้านค้าต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงของเสีย จะบริหารจัดการอย่างไร

 

6. ออล อิน วัน แอพ เชื่อมต่อการขายสินค้าและบริการจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ โดยแอพพลิเคชั่นนี้ จะทำให้คนใช้ชีวิตได้สนุกมากขึ้น

 

7. เวนเจอร์ แคปปิตอล สนับสนุนงานการลงทุนในสตาร์ตอัพและกองทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง