รีเซต

ฝนถล่มกรุงเทพ! 60-80% ของพื้นที่ 19-25 พ.ค. นี้

ฝนถล่มกรุงเทพ! 60-80% ของพื้นที่ 19-25 พ.ค. นี้
TNN ช่อง16
19 พฤษภาคม 2567 ( 20:34 )
32
ฝนถล่มกรุงเทพ! 60-80% ของพื้นที่ 19-25 พ.ค. นี้

กรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสภาพอากาศแปรปรวน โดยคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2567 จะมีฝนตกหนักร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดจนมีลมกระโชกแรงและฝนตกหนักในบางแห่ง ขณะเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็ได้ออกประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยจากฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันใน 27 จังหวัวทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20-26 พฤษภาคม 2567 เช่นกัน


นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศและประเมินปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 20-23 พ.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 22-26 พ.ค. จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย


สำหรับสภาพคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 21-26 พ.ค. โดยเฉพาะทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และมากกว่า 3 เมตรในที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และมากกว่า 2 เมตรในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


กอปภ.ก. จึงได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง รวม 27 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคกลาง/ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล


ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหารในพื้นที่ อาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสา ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมความพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย รถยนต์บรรทุกน้ำ เรือท้องแบน รวมไปถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติได้ทันท่วงที


หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอปพลิเคชัน "ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง