รีเซต

ออมสินชูสินเชื่อสีเขียว ปล่อยกู้ดอกต่ำผลิตอีวี

ออมสินชูสินเชื่อสีเขียว ปล่อยกู้ดอกต่ำผลิตอีวี
ทันหุ้น
22 สิงหาคม 2566 ( 07:02 )
106
ออมสินชูสินเชื่อสีเขียว ปล่อยกู้ดอกต่ำผลิตอีวี

ธนาคารออมสิน จับมือ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยออกสินเชื่อ “GSB EV Supply Chain” ดอกเบี้ยต่ำ 3.745% ต่อปีหนุนผู้ประกอบการยานยนต์อีวี และซัพพลายเชน เข้าถึงแหล่งทุน ผลักดันภาคธุรกิจร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

 

นายวิทัย  รัตนากร  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ให้ความสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน ล่าสุดธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อ "GSB EV supply Chain" เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและผู้ประกอบการ Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV ได้แก่ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (OEM) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า

 

ตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อหมุนเวียนทำธุรกิจ หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และ Re-Finance พร้อมให้การสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถใช้วงเงินสินเชื่อ "โครงการ GSB For BCG Economy" ได้ ซึ่งไม่จำกัดวงเงินกู้ และผู้ประกอบการรายย่อยภายใต้ "โครงการสินเชื่อธุรกิจ GSB EV Supply Chain" วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 3.745% ต่อปี (MOR/MLR-3% ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตามกระแสอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ สินเชื่อ GSB Green Home Loan สำหรับผู้บริโภครายย่อยที่มีความต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงาน สินเชื่อ GSB Go Green ตอบสนองผู้ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าไฟ หรือติดตั้งแผงโซลาร์ หรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสินเชื่อ GSB for BCG Economy สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึง สินเชื่อ GSB Green Biz สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

@ ปีหน้าผลิตอีวีเพียบ

 

ด้านนายกฤษฎา  อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจะมีค่ายรถยนต์ต่างๆ เข้ามาประกอบและผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ตามที่ได้ลงนามความเข้าใจ (MOU) กันไว้กับผู้นำเข้า "รถยนต์ไฟฟ้า" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ดังนั้นผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ในไทย (Supply Chain) จึงต้องปรับกระบวนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงส่วนประกอบต่างๆ เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

 

ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายสนับสนุนได้กำหนดเป้าหมายภายในปี 2573 ตั้งเป้าให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 50% ของรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายทั้งหมด และภายในปี 2578 ตั้งเป้าผลิตเป็น 100% ของการผลิตทั้งหมด รวมถึงยังมีนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางสาธารณะ เช่น รถบัส, รถเมล์ไฟฟ้า, รถตุ๊กตุ๊ก, รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ฯลฯ

 

“ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 11 ของโลก และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย การสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตให้สามารถปรับตัว เพื่อรองรับการผลิตรถไฟฟ้าในอนาคต จึงเป็นการขับเคลื่อนภาคการผลิตครั้งใหญ่ของไทย โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยตั้งแต่การผลิตเซลล์แบตเตอรี ซึ่งทางสมาคมมีแนวทางการดำเนินงานแล้ว รอเพียงรัฐบาลใหม่เข้ามาสนับสนุนต่อเนื่อง หวังว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง