คอลัมน์ หลากหลาย - ทดสอบ‘การ์มินเวนู’ จอOLED-ฟังก์ชันแน่น
ทดสอบ‘การ์มินเวนู’ - การ์มิน แบรนด์สมาร์ตวอตช์ยอดนิยมจากประเทศสหรัฐอเมริกา รักษาความนิยมมาหลายรุ่นจนถึงรุ่นล่าสุด การ์มิน เวนู (Garmin Venu) เป็นนาฬิกาอัจฉริยะระบบจีพีเอสรุ่นแรกของทางค่าย ใช้เทคโนโลยีจอภาพ เป็น OLED มีจุดเด่นที่สีสันสวยงาม และคอนทราสต์สูง
ข่าวสดไอทีมีโอกาสใช้งานอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงนำประสบการณ์การใช้งานมาเล่าสู่กันฟัง
การ์มิน เวนู จัดเป็นสมาร์ตวอตช์จีพีเอสระดับกลาง ตัวเรือนทำจากพลาสติกไฟเบอร์เสริมแกร่งขอบโลหะสเตนเลส ประกบด้วยกระจกกันกระแทก กอริลลา กลาส 3 จากค่ายคอร์นนิ่ง ที่ขอบขวามีปุ่มควบคุม 2 ปุ่ม โดยปุ่มบนใช้เลือกเมนู และปุ่มล่างเป็นการย้อนกลับ น้ำหนักไม่รวมสาย 46.3 กรัม
ส่วนสายรัดข้อมือแบบถอดเปลี่ยนได้ด้วยกลไกหมุดสวิตช์แบบควิกรีลีส เลือกซื้อเพิ่มเติมได้ ไม่ว่าจะเป็นสายซิลิโคน สายหนัง และสายโลหะ (ที่แถมมาเป็นสายยางรับเบอร์) ขนาดตัวเรือนกว้าง 43.2 ยาว 43.2 หนา 12.4 มิลลิเมตร กันฝุ่นและกันน้ำเข้าที่ระดับความลึกไม่เกิน 50 เมตร (มาตรฐาน 5ATM)
การออกแบบภายนอกทั้งหมดของการ์มิน เวนู ออกเรียบหรูและดูทะมัดทะแมง ให้ความรู้สึกสปอร์ต เหมาะกับการใส่ออกกำลังกายทั้งในยิมและว่ายน้ำ โดยมีความหรูหรากว่ารุ่นน้องอย่าง Vivoactive แต่ไม่ถึงกับรู้สึกว่าแพงจัดๆ เหมือน รุ่นพี่ Fenix ขณะที่หน้าจอ AMOLED ของเวนูนั้นเป็นข้อได้เปรียบที่สุด
การควบคุมหลักๆ จากปุ่มของเวนูนั้น หากกดปุ่มจะ เป็นการเลือกรูปแบบการออกกำลังกาย มีให้เลือกอย่าง หลากหลายตั้งแต่การวิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ตีกอล์ฟ เล่นสกี สโนว์บอร์ด พายเรือ หรือแม้แต่การออกกำลังต่างๆ ในยิมอย่างการยกน้ำหนักท่าต่างๆ คาร์ดิโอ
รวมทั้งการฝึกหายใจ และโยคะ แต่หากกดปุ่มบนค้างไว้ประมาณ 2 วินาที ระบบจะนำผู้ใช้เข้าสู่ไอคอนทางลัดทั้งหมดแทน ขณะที่ปุ่มล่างเป็นการย้อนกลับ หากกดค้างไว้จะนำผู้ใช้เข้าสู่การตั้งค่าต่างๆ ซึ่งทั้งหมดผู้ใช้ควบคุมได้โดยตรงจากจอภาพระบบทัชสกรีน
การออกแบบไอคอนต่างๆ ของทางการ์มินนั้นเข้าใจง่าย การเว้นที่ว่างของเมนูต่างๆ และขนาดไอคอนทำให้ง่ายต่อการกดเลือกแม้ผู้ที่มีนิ้วมือใหญ่ๆ อย่าง ผู้ทดสอบก็ตาม ฟังก์ชันการควบคุมง่ายและสามารถทำความเข้าใจได้รวดเร็ว
อย่างไรก็ดี มีความเห็นว่าปุ่มบนนั้นน่าจะมีฟังก์ชัน อื่นเพิ่มเข้ามาอีก เช่น ทำหน้าที่เป็นปุ่มเลือกไอคอนต่างๆ แทนที่จะต้องให้ผู้ใช้เปลี่ยนไปเขี่ยเองที่หน้าจออีกครั้ง เช่น เมื่อกดปุ่มบนค้างแล้วเข้าสู่เมนูลัด หรือกดปกติ เพื่อเข้าสู่รายการออกกำลังกาย ปุ่มบนกลับไม่มีฟังก์ชันอื่นอีก แทนที่จะกดซ้ำเพื่อเลื่อนตัวเลือกวนไปเรื่อยๆ ทำให้แลดูแปลกๆ
ด้านน้ำหนักของการ์มิน เวนู ถือว่าค่อนข้างเบา แทบไม่รู้สึกว่าสวมใส่นาฬิกา ดังกล่าวอยู่ ใส่ได้ทั้งวันทั้งคืน ขณะที่สายรัดยางที่แถมมานั้นไม่ได้มีอะไรพิเศษ เหมาะสำหรับใส่ออกกำลังกาย ส่วนใครที่ผิวแพ้เหงื่อ หรือแพ้ง่ายควรทำความสะอาดสายทุกครั้งและอย่ารัดแน่นจนเกินไป หากเลือกซื้อเป็นสายโลหะได้จะดีกว่า เพราะอมเหงื่อน้อยกว่า ขณะที่กลไกการเปลี่ยนสายนั้นก็แน่นหนาไว้ใจได้เพราะเป็นแบบหมุดควิกรีลีส
ความโดดเด่นที่สุดของการ์มิน เวนู อยู่ที่หน้าจอ AMOLED ขนาด 1.2 นิ้ว เรโซลูชั่น 390 x 390 พิกเซล ถือเป็น สมาร์ตวอตช์จีพีเอสรุ่นแรกของค่ายนี้ที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ไม่เหมือนกับที่ผ่านมาซึ่งเป็น MIP panel ซึ่งเด่นกว่าในเรื่องความชัดเจนสู้แสง และระยะเวลาการใช้งาน ขณะที่ AMOLED นั้นเด่นกว่าในเรื่องของสีสันที่เตะตา และ คอนทราสต์สูง
หน้าจอ AMOLED ทำให้สมาร์ตวอตช์รุ่นนี้จากการ์มินมีความโดดเด่นเตะตาอย่างมาก ทั้งยังปรับความสว่างได้แบบอัตโนมัติ หรือปรับเอง 3 ระดับ
รูปแบบหน้าจอเลือกดาวน์โหลดได้เองมีหลายรูปแบบ แต่ความโดดเด่นของจอ AMOLED ไม่ค่อยมี ขณะที่แอนิเมชั่น การออกกำลังต่างๆ ที่ทางการ์มินใส่มานั้นก็ไม่ได้มีมากจนเรียกว่า AMOLED แลดูจำเป็น หากใครชื่นชอบจอ AMOLED อยู่แล้ว คงถูกใจสีดำที่มืดสนิท และสีสันที่เปล่งประกาย
ส่วนความสว่างนั้นใช้งานกลางแจ้งได้แบบสบายๆ วัดได้สูงสุดถึง 1,000 นิต ถึงจะไม่สว่างเท่าจอ MIP panel ก็ตาม
จุดที่ขัดใจที่สุดเห็นจะเป็นการทำงานของซอฟต์แวร์ที่แลดูไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร บางครั้งระหว่างเลือกเมนูต่างๆ ผ่าน ทัชสกรีนจะเกิดอาการกระตุกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตอนเลือกหน้าปัดนาฬิกา รูปแบบต่างๆ บางครั้ง ต้องเขี่ยอยู่หลายครั้งถึงจะทำงาน หรือการเลือกเมนูบางครั้ง ทำให้จิ้มผิด เพราะอาการกระตุก คิดว่าน่าจะเป็นปัญหาด้าน software optimization ที่ทางการ์มินต้องนำกลับไปทำการบ้านสักเล็กน้อย
การเปลี่ยนมาใช้หน้าจอ AMOLED นั้นแม้มีความสวยงามมากกว่า อาจทำให้อายุการใช้งานหน้าจอไม่นานเท่าจอรุ่นก่อนๆ ของทางการ์มิน
ผลการทดสอบระยะเวลาการใช้งานของสมาร์ตวอตช์รุ่นนี้อยู่ที่ประมาณ 5-7 วัน (ปิดระบบ Always-on) ถือว่าดีกว่า คู่แข่งอื่นๆ เช่น แอปเปิ้ลวอตช์ เวียร์ โอเอส และกาแล็กซีวอตช์ แอ๊กทีฟ 2 จากซัมซุง ขึ้นอยู่กับว่าใช้งานหนักแค่ไหน อาทิ การฟังเพลงจากนาฬิกา หรือการเปิดเซ็นเซอร์พิเศษอื่นๆ และจีพีเอสเวลาวิ่ง
ขณะที่การชาร์จนั้นใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยสายชาร์จเป็น mini-USB to micro-USB แถมมาให้ ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร
สําหรับฟังก์ชันการออกกำลังกายนั้นนอกจากรูปแบบ หลากหลายที่มีให้เลือกแล้วยังมีการฝึกกำหนดลมหายใจ (breath work) มีรูปแบบให้เลือกอีกหลายอย่าง เช่น หายใจ ผ่อนคลาย ไปจนถึงหายใจเร็ว โดยระบบจะกำหนดคำสั่งมาให้ฝึกหายใจตาม แล้วแปลงผลออกมาให้ดู นอกจากนี้ การ์มิน เวนู จะวัดการหายใจของผู้สวมใส่ด้วยตลอดทั้งวัน ประกอบกับข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น อุณหภูมิ ชีพจร ความเครียด การเผาผลาญพลังงาน ระยะทางที่เดิน เป็นต้น
อีกฟังก์ชันหนึ่งที่ใหม่ถอดด้ามเป็นการวัดออกซิเจนในเลือดแบบตลอดทั้งวัน (pulse ox) ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะปิดทั้งหมด เปิดทั้งวัน หรือเปิดเฉพาะตอนนอนหลับเท่านั้น เพราะแน่นอนว่ามีผลต่อแบตฯ
ผลการทดสอบพบว่า ผลการวัดที่ออกมานั้นมีความแม่นยำอยู่ในระดับกลาง ซึ่งทางการ์มินเองก็ระบุมาชัดเจนแล้วในคู่มือว่าไม่ควรนำไปใช้ในทางการแพทย์ ดังนั้น ข้อมูลในส่วนนี้ ผู้ใช้ควรพิจารณาเป็นแนวโน้มมากกว่า อย่าไปคาดคั้นกับตัวเลขจนเกินไป
เช่น กรณีของผู้ทดสอบพบออกซิเจนในเลือดอยู่ที่ร้อยละ 92 ระหว่างวัน แต่เมื่อวัดเทียบกับอุปกรณ์การแพทย์ในโรงพยาบาลแล้ววัดได้ถึงร้อยละ 99 เป็นต้น (ปกติระหว่างวันควรอยู่ที่ราวร้อยละ 95-100 หากต่ำกว่าร้อยละ 84 ถือว่าอันตรายมาก ต้องเรียกรถพยาบาลแล้ว)
ส่วนการวัดการนอนหลับนั้นก็ยังสามารถทำได้อยู่เหมือนเดิม เช่นเดียวกันระบบจีพีเอสที่ใช้ระหว่างวิ่งนั้นมีความแม่นยำ ค่อนข้างมาก ด้านฟีเจอร์อื่นๆ ก็มีมาให้อย่างครบครัน เช่น บรรจุเพลงได้ 500 เพลง (ประมาณ 3.5 กิกะไบต์) ระบบจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตผ่าน Garmin pay เชื่อมต่อได้ทั้ง Bluetooth และ Wi-Fi รองรับทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จากกูเกิ้ล และไอโอเอสจากแอปเปิ้ล
สรุปแล้ว การ์มิน เวนู เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายเป็นหลัก และบรรดาสาวกของการ์มินที่เรียกร้องหน้าจอ AMOLED กันมานาน ถือเป็นหนึ่งในสมาร์ตวอตช์จีพีเอสสำหรับการออกกำลังกายที่ดีที่สุดเท่าที่เคยทดลองใช้มา
จันท์เกษม รุณภัย