รีเซต

จับตา! เด็กป่วยโควิดสูงขึ้น เตือน 23 จังหวัด เดินทางเข้าพื้นที่ต้องระวังพิเศษ

จับตา! เด็กป่วยโควิดสูงขึ้น เตือน 23 จังหวัด เดินทางเข้าพื้นที่ต้องระวังพิเศษ
TNN ช่อง16
11 กุมภาพันธ์ 2565 ( 08:31 )
86

ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และ 

 

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 และความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยนพ.จักรรัฐ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขปรับการรายงานสถานการณ์โควิด 19 โดยเน้นติดตามจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบและเสียชีวิตมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตวันนี้ 20 ราย ทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบมี 563 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 114 ราย เทียบกับวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด และมีผู้ป่วยปอดอักเสบ 5.6 พันราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1.1 พันราย ขณะนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้น เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่กำลังรักษาขณะนี้ 105,129 ราย เป็นเพียงครึ่งเดียวจากช่วงที่ติดเชื้อสูงสุด 

 

ส่วนผู้ติดเชื้อรายวัน แนวโน้มยังสูงขึ้นต่อเนื่องจากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการและมีกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น จังหวัดที่ติดเชื้อสูง 23 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี และ กทม. ขอให้ประชาชนในจังหวัดหรือผู้เดินทางเข้าจังหวัดเหล่านี้ ระมัดระวังป้องกันตนเองอย่างเข้มข้น สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่างจากผู้อื่น การรับประทานอาหารร่วมกันขอให้เว้นระยะห่าง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เลี่ยงการพูดคุย เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ 

 

สำหรับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบกลุ่มเด็ก 0-9 ปี และวัยรุ่น 10-19 ปี มีการติดเชื้อสูงขึ้น โดยกลุ่มอายุ 0-4 ปี และ 5-9 ปี ส่วนใหญ่ติดเชื้อในครอบครัว กลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 15-19 ปี เป็นการติดเชื้อในโรงเรียน ส่วนการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกบ้านและในชุมชน เป็นกลุ่ม 15-19 ปี ทั้งนี้ หากมีการติดเชื้อในบ้าน โดยเฉพาะ เด็กเล็ก ขอให้เว้นระยะห่างจากผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เพราะอาจติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป จะมีอัตราติดเชื้อเสียชีวิตสูงกว่าเด็กเล็กถึง 200 เท่า จึงต้องรณรงค์ให้มารับวัคซีนทั้งในเด็กและผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต

 

ด้าน นพ.วิชาญ กล่าวว่า การระบาดในระลอกนี้พบผู้ป่วยเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปี สูงขึ้น แม้ส่วนใหญ่จะอาการค่อนข้างน้อย แต่ต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในครอบครัว และไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย โดยแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มเด็ก ของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้เชี่ยวชาญทั้งในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาผลการขึ้นทะเบียนกับ อย. พิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานข้อมูลวิชาการทั้งมาตรฐานและความปลอดภัย  ผลการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประสิทธิผลด้านการป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนที่ผ่านการพิจารณาให้ฉีดในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้แก่ ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) สำหรับอายุ 5-11 ปี, ไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) สำหรับอายุ 12-17 ปี และ ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม สำหรับอายุ 6-17 ปีขึ้นไป และสูตรไขว้ ซิโนแวคและไฟเซอร์ สำหรับอายุ 12-17 ปี โดยตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2565 ฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี ไปแล้ว 66,165 คน จากทั้งหมด 5.1 ล้านคน ยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน 

 

ทั้งนี้ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ข้อมูลล่าสุดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว 117,094,785 โดส พบอาการไม่พึงประสงค์ คือการแพ้ชนิดรุนแรงในซิโนแวคมากกว่าชนิดอื่น ส่วนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบในไฟเซอร์มากกว่าชนิดอื่น และภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ พบในแอสตร้าเซนเนก้ามากกว่าชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มเด็ก พบว่ามีอัตราป่วยตายจากโรคโควิด 2 รายในหมื่นราย แต่หากฉีดวัคซีนแล้ว อัตราการตายลดลงเป็นพันเท่า ดังนั้น หากฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์มากกว่าในการช่วยป้องกันการป่วยตายในเด็กได้ดี

 

 

 

 

 

 

ภาพ TNNONLINE 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง