ปรับกลยุทธ์การลงทุนปีเสืออย่างไรให้ "ปัง"
ก้าวเข้าสู่ปี 2022 หลายคนคงเริ่มมองหาแนวทางการลงทุนสำหรับปีนี้กันแล้ว ก่อนที่เราจะเข้าสู่เนื้อหา เรามาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2021 ก่อนว่ามีเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง และส่งผลกระทบต่อโลกของการลงทุนอย่างไรเริ่มต้นที่ภาพรวมของดัชนี MSCI World ที่ใช้เป็นตัวแทนของตลาดหุ้นทั้งโลก ตลอดทั้งปี 2021 ให้ผลตอบแทนราว 16.8%
ในช่วงต้นปี กระแสความกังวลเรื่องเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายๆ ประเทศทยอยเปิดเมือง ทำให้ผู้คนหันกลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังจากอัดอั้นมานาน อีกทั้งประเด็นเรื่อง คอขวดห่วงโซ่อุปทานส่งผลให้ขาดแคลนวัตถุดิบบางประเภท ยิ่งกดดันให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อจึงเพิ่มขึ้นตาม ตลาดจึงกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed อาจเร่งใช้นโยบายการเงินตึงตัว ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงสั้นๆ ในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี ในครึ่งแรกของปี 2021 ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นได้ราว 12%
• ช่วงครึ่งปีหลัง การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงขึ้น จำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ตลาดกลับตื่นตระหนกน้อยลงเนื่องจากเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนและจากการเร่งฉีดวัคซีน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นว่าจะสามารถจำกัดการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเปลี่ยนมาอยู่ทางฝั่งจีนแทน หลังมีข่าวการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ ในจีนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริษัทอสังหาฯ ขนาดใหญ่ของจีนทื่ชื่อ Evergrande กล่าวกันว่าเป็นบริษัทอสังหาที่มีภาระหนี้ที่สูงที่สุดในโลก
• ช่วงท้ายของปี สิ่งที่ตลาดคาดก็เป็นจริง เมื่อ Fed เตรียมทยอยลดวงเงินเสริมสภาพคล่องให้แก่ตลาด (QE) และเตรียมขยับดอกเบี้ยขึ้นครั้งแรกในปี 2022 หลังเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซ้ำด้วยการมาถึงของโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอน ทำให้ตลาดปรับฐานในช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่ท้ายที่สุดโลกพบว่า แม้โอมิครอนทำให้ติดเชื้อได้ง่ายแต่อาการไม่รุนแรงมากนัก
ขณะที่ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงคาดว่าจะเติบโตได้ดีต่อในปี 2022 ดันให้ดัชนีปิดสิ้นปีใกล้เคียงกับจุดสูงสุดตลอดกาลเลยทีเดียวสรุปผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่เด่นๆ ของปี 2021 ดังนี้
1. ราคาน้ำมันที่ปรับพุ่งขึ้นกว่า 55% ถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด (ทั้งนี้ไม่ได้รวมสินทรัพย์ประเภทคริปโตเคอเรนซี่) ในขณะที่หุ้นกลุ่มไอทีก็ปรับเพิ่มขึ้นได้ดีกว่าหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน
2. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนโดดเด่นที่สุด ที่บวก 27% ตามด้วยตลาดหุ้นอินเดีย ที่ปรับเพิ่ม 25% ในขณะที่ดัขนี SET ของไทยก็ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 14%
อย่างไรก็ดี ปี 2021 เป็นปีที่แย่สำหรับตลาดหุ้นจีน โดยดัชนี CSI 300 ปรับลดลง 5% ในขณะที่หุ้นหลายตัวในดัชนี HSCEI ถูกทางการจีนกดดันส่งผลให้ปรับลดลงสูงถึง 23%
สำหรับปี 2022 นี้ เราได้สำรวจมุมมองการลงทุนจากหลายๆ สำนัก เช่น Lombard Odier , Blackrock หรือ JPMorgan และได้รวบรวมความเห็นในสินทรัพย์ต่างๆ สรุปได้ดังนี้
• มุมมองโดยส่วนใหญ่ยังคงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี การคัดเลือกภูมิภาคหรือกลุ่มอุตสาหกรรมของหุ้นที่ลงทุนเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนในปีนี้ หลังมูลค่าหุ้นในบางตลาดมีราคาสูงและโอกาสที่หุ้นทุกตลาดจะปรับตัวขึ้นได้ดีเหมือนหลายปีที่ผ่านมาน้อยลง
• หุ้นในภูมิภาคยุโรปยังคงได้รับความสนใจมากที่สุด ในทางกลับกันพันธบัตรภาครัฐฯ เป็นสินทรัพย์ที่หลายๆ สำนักแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนมากที่สุด
- มุมมองการลงทุน
เศรษฐกิจโลกโตต่อแต่เริ่มช้าลง โดยเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกยังคงเติบโตได้ดีกว่าฝั่งประเทศเกิดใหม่ อีกทั้งนโยบายการเงินเริ่มตึงตัวมากขึ้นโดยการขึ้นดอก เบี้ยและลด QE วงจรดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นแบบช้า (ขึ้นกับเงินเฟ้อ) และประเด็นความเสี่ยงอย่าง ห่วงโซอุปทานคอขวด โควิด 19 และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังคงมีอยู่
- คำแนะนำการลงทุน
• แนะนำหุ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่า
• แนะนำหลีกเลี่ยงพันธบัตรระยะยาวและกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่ให้ดอกเบี้ยสูงแทน
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมกราคมนี้มักจะมีคำถามเกี่ยวกับปรากฎการณ์ January effect ว่าตลาดหุ้นยังจะปรับตัวขึ้นหรือไม่อย่างใด ซึ่ง January effect คือ การที่ตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นจากการโหมลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกในช่วงต้นปีด้วยความคาดหวังในเชิงบวก หลังจากที่จบรอบการลงทุนของปีก่อน ทั้งนี้เราจึงได้รวบรวมสถิติย้อนหลังสิบปีของแต่ละตลาด สรุปได้ดังนี้
ตลาดหุ้นโลก : ดัชนี MSCI world พบว่าครึ่งหนึ่งในรอบ 10 ปีให้ผลตอบแทนเป็นบวกและครึ่งหนึ่งให้ผลตอบแทนติดลบในเดือนมกราคม แต่ถ้าปีไหนให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกก็จะบวกค่อนข้างมาก เฉลี่ยราว 5%
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ : ดัชนี S&P500 ผลที่ได้ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นโลกกล่าวคือ สถิติกล่าวว่า 5 ปีปิดบวก และ 5 ปีปิดลบ แต่สำหรับปี 2022 ที่ผ่านมาเพียง 1 สัปดาห์เริ่มเป็นลบเล็กน้อย
สุดท้ายตลาดหุ้นไทย : ดัชนี SET กลับเป็นตลาดที่เกิด January effect มากที่สุด คือ เป็นบวกสูงถึง 8 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว
ทั้งนี้มีข้อที่น่าสังเกตเพิ่มอีกด้วยว่า ทุกตลาดมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้น (มีทิศทางเป็นตลาดขาขึ้น) อย่างชัดเจนในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ด้วยเช่นกัน
สุดท้ายต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญของการลงทุน นั่นก็คือการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมด้วยนะครับ
ที่มา : นที ดำรงกิจการ Executive Director, Head of Financial AdvisoryPrivate Banking Group, ธนาคารกสิกรไทย
ภาพประกอบ : ธนาคารกสิกรไทย,ธนาคารไทยพาณิชย์,พิกซาเบย์