รีเซต

เปิดปมเหตุขัดแย้งกลุ่มชาติพันธุ์อินเดีย คร่าครึ่งร้อย

เปิดปมเหตุขัดแย้งกลุ่มชาติพันธุ์อินเดีย คร่าครึ่งร้อย
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2566 ( 15:46 )
120
เปิดปมเหตุขัดแย้งกลุ่มชาติพันธุ์อินเดีย คร่าครึ่งร้อย



เหตุปะทะคร่าชีวิต 54 ราย


มีคนอย่างน้อย 54 คนเสียชีวิต และอีกกว่า 23,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย ทำให้ต้องเข้าไปพักพิงภายในแคมป์ทหาร หลังจากที่เกิดการปะทะกันของกลุ่มชาติพันธุ์ ในรัฐมณีปุระทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 


กองทัพอินเดีย เปิดเผยว่า จากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง รวมถึงการใช้โดรน และเฮลิคอปเตอร์เข้าประจำการ


เหตุปะทะรุนแรงครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันพุธ (3 พฤษภาคม) หลังจากที่มีการเดินขบวนประท้วงที่จัดขึ้นโดยกลุ่มชนเผ่ากูกิ (Kuki) และนำมาสู่การปะทะกันกับชาวเมเต (Meitei) ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรัฐมณีปุระ และลุกลามบานปลาย ทำให้เสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน


ในวันพฤหัสบดี (4 พฤษภาคม) มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ “ยิงทันทีที่เห็น” (shoot at sight) พร้อมกับมีการเสริมกำลังทหารเพื่อปราบปรามเหตุรุนแรง นับเป็นการเปิดรอยร้าวรอยใหม่ในรัฐที่มีประวัติอันน่าสะพรึงของความรุนแรงของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่แล้วแห่งนี้


ผลพวงของความรุนแรง ยังทำให้ต้องสั่งตัดอินเทอร์เน็ต และประกาศเคอร์ฟิว 9 จากทั้งหมด 16 เขตของรัฐ 


เมื่อวันอาทิตย์ กองทัพเปิดเผยว่าไม่มีความรุนแรงใหม่เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา ทำให้ยกเลิกเคอร์ฟิวในบางพื้นที่ลงได้ 


อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ แต่มีร่างผู้เสียชีวิตในห้องเก็บศพของโรงพยาบาลในเมืองอิมฟาล เมืองเอกของรัฐ และโรงพยาบาลอื่น ๆ อย่างน้อย 54 ราย 



ภาพชาวอินเดียขณะอพยพออกจากพื้นที่ที่เกิดการปะทะ

 ภาพ: Arun SANKAR / AFP



ใครคือคู่ขัดแย้ง?


1. ชุมชนเมเต (Meitei) (ชาวกระแซ): เป็นชุมชนชาวฮินดู ซึ่งถือว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรัฐมณีปุระ ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองอิมฟาล เมืองเอกของ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของประชากร 3.5% ของประชากรในรัฐนี้ (จากการทำสำมะโนประชากรในปี 2011) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในเมืองและที่ราบ


2. กลุ่มชนเผ่านาคา (Naga) และกูกิ (Kuki): เป็น 2 กลุ่มชาติพันธุ์ชาวคริสต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของประชากรของรัฐ และมีสถานะคือ “ชนเผ่าด้อยโอกาส” (Scheduled Tribe) ซึ่งพวกเขาก็เข้าใจในสถานะดังกล่าว


กลุ่มนี้ได้รับสิทธิ์ในการครอบครองพื้นที่เชิงเขาและในป่า และนับว่าเป็นชนเผ่าที่สำคัญในการอาศัยอยู่ในเชิงเขาต่าง ๆ 


ส่วนกลุ่มชนเผ่าอื่น ๆ เช่น มิโซ (Mizo) อาศัยอยู่ติดกับเมียนมา



อะไรคือ “ชนเผ่าด้อยโอกาส”?


อย่างที่เราทราบกันว่า อินเดียแบ่งเป็นวรรณะต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะต้องมีสูติบัตร (Birth Certificate) แล้ว ยังมีใบรับรองวรรณะต่าง ๆ ด้วย


แม้จะมีการยกเลิกวรรณะแล้ว และรัฐธรรมนูญพยายามผลักดันคนกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นมา และให้การรับรองตามรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าต่าง ๆ และการให้สิทธิ์กับพวกเขาด้วย ทั้งเรื่องการศึกษา หรือโควตาในการทำงานของรัฐบาล ซึ่งกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ในมณีปุระก็ได้รับสถานะ “ชนเผ่าด้อยโอกาส” (Scheduled Tribe) แล้ว และพวกเขาก็ยินดีกับสถานะดังกล่าวด้วย


แต่กลุ่มเมเต ชี้ว่า พวกเขาเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของรัฐมณีปุระ เมื่อเทียบกับชุมชนอื่น ๆ แต่กลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการรับรองการเป็น Scheduled Tribe และพยายามเรียกร้องให้ได้รับสถานะดังกล่าวมาโดยตลอด




เกิดความรุนแรงได้อย่างไร?


ความรุนแรงเริ่มต้นจากกลุ่มชนเผ่ากูกิ ซึ่งสมาชิกกลุ่มได้ออกมาประท้วงต่อต้านชุมชนเมเต ที่ต้องการให้พวกเขาได้รับสถานะ Scheduled Tribe ด้วยนั้น


บรรดาชาติพันธุ์ต่าง ๆ ระบุว่า หากกลุ่มเมเตได้รับสถานะ Scheduled Tribe นั้น จะนับเป็นการละเมิดสิทธิ์ของเหล่ากลุ่มชนเผ่าอื่น ๆ เพราะพวกเขาเชื่อว่าชุมชนเมเตเองนับเป็นชุมชนหลักซึ่งมีความโดดเด่นอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะได้รับสถานะ Scheduled Tribe นี้ด้วย เพราะหากชุมชนเมเตได้รับสถานะนี้ ก็จะกลายเป็นการแบ่งเค้กชิ้นใหญ่ให้กับชุมชนเมเตไป 


อรุณาบ ไซเกีย นักข่าวในมณีปุระ เล่าว่า บรรดากลุ่มชนเผ่าในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย รู้สึกยินดีกับสถานะ Scheduled Tribe นี้แล้ว ในการได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญ และพวกเขากังวลอย่างมาก หากกลุ่มเมเตก็ได้รับสถานะดังกล่าว ที่จะทำให้พวกเขาได้รับสิทธิ์ในแถบเชิงเขาและในป่าด้วย 



ความขัดแย้งที่ยาวนาน


ไซเกีย ระบุว่า ทั้งสองฝ่าย (ชุมชนเมเต-กลุ่มชาติพันธุ์) มีประวัติความรุนแรงกันมาอย่างยาวนาน ภายใต้บริบทของความขัดแย้งเดียวกันนี้เอง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความซับซ้อน และยุ่งเหยิง จากหลากหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง 


รัฐบาลกลางได้ส่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยจัดการความขัดแย้ง แต่ความตึงเครียดก็ยังคงอยู่ 

————

แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: Arun SANKAR / AFP


ข้อมูลอ้างอิง:

12


ข่าวที่เกี่ยวข้อง