รีเซต

สหรัฐฯผวา! กวางหางขาวติดโควิดโอมิครอน หวั่นเกิดสายพันธุ์ใหม่

สหรัฐฯผวา! กวางหางขาวติดโควิดโอมิครอน หวั่นเกิดสายพันธุ์ใหม่
TNN ช่อง16
9 กุมภาพันธ์ 2565 ( 20:25 )
119
สหรัฐฯผวา! กวางหางขาวติดโควิดโอมิครอน หวั่นเกิดสายพันธุ์ใหม่

วันนี้ (9 ก.พ.65) นักวิจัยมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียของประเทศสหรัฐอเมริกา เผยผลวิจัยการตรวจเลือดและการตรวจโควิด-19 แบบสวอบ "กวางหางขาว" 131 ตัว ที่อาศัยบริเวณเกาะสแตเทน รัฐนิวยอร์ก พบว่าเกือบ 15% มีภูมิคุ้มกันของเชื้อ "โอมิครอน" แล้ว 

หมายความว่า กวางเหล่านี้ได้ผ่านการติดเชื้อ "โอมิครอน" มาแล้ว และเสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำด้วยเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ และหากเกิดการระบาดในวงกว้างในสัตว์ ก็มีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นจะกลับมาสู่คน



จากการพบแอนติบอดี "โอมิครอน" ในกวางหางขาวข้างต้น ทำให้คณะนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย วิตกกังวลว่า "กวางหางขาว" อาจกลายเป็น แหล่งเพาะโรค ที่จะนำไปสู่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่   

พร้อมกันนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า กวางหางขาวที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในครั้งนี้ เป็นการติดจากมนุษย์ไปสู่สัตว์ ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปยังกวางหางขาวตัวอื่นๆ ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานว่าสัตว์สามารถแพร่เชื้อไวรัสโอมิครอนมาสู่คนได้ แต่พบหลายเคสที่สัตว์ติดเชื้อโควิด-19 จากการใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อโควิด-19

ตามข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ยังระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ก็พบเคสของกวางป่าที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นเคสแรกของโลกในรัฐโอไฮโอ ทำให้กวางมาอยู่ในรายชื่อสัตว์อีกประเภทที่ติดเชื้อโควิด-19 

นอกเหนือจาก สุนัข แมว เสือ สิงโต เสือดาวหิมะ นาก กอริลลา และมิงค์ ส่วนสัตว์เลี้ยงน่ารักอย่างหนูแฮมเตอร์ อยู่ระหว่างศึกษาในฮ่องกง หลังพบการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ในร้านขายสัตว์เลี้ยง จนเป็นที่มาการกวาดล้างหนูแฮมสเตอร์ในเกาะฮ่องกง

ด้าน ดร.โดลิต นิตซาน ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป เผยว่า โควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มีแนวโน้มที่จะระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในโลก 

พร้อมชี้ว่า สิ่งที่สายพันธุ์ BA.1 กับ BA.2 เหมือนกันก็คือ สามารถแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็ว แต่ผลศึกษาในเดนมาร์ก และสหราชอาณาจักร พบว่า BA.2 แพร่กระจายได้มากกว่าสายพันธุ์ BA.1 อยู่ที่ 30-34%

เช่น "ถ้าคุณอยู่ในห้องที่มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน คุณจะรับเชื้อทันที่คุณถอดหน้ากากเพื่อดื่ม และรับประทานอาหาร" อย่างที่เห็นผลลัพธ์ชัดเจนในเดนมาร์ก แต่หากฉีดวัคซีนบูสเตอร์จะช่วยลดความเสี่ยงได้ 20% เมื่อเทียบกับคนฉีด 2 เข็ม ที่ไม่ได้บูสต์

ส่วนระยะเวลาการฟักเชื้อ หรือช่วงเวลาระหว่างการติดเชื้อไวรัสกับแสดงอาการป่วย ในบางผลการศึกษาพบว่า ระยะฟักเชื้อ BA.2 สั้นกว่า BA.1 เพียง 2-3 วันหลังจากได้รับเชื้อ บางรายงานพบว่า ระยะฟักเชื้อนานผิดปกติ บางครั้งอาจใช้เวลาสูงถึง 2 สัปดาห์กว่าที่อาการจะแสดงออกมาภายหลังการสัมผัสเชื้อแล้ว 

ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจสรุประยะเวลาฟักเชื้อได้อย่างแม่นยำสำหรับบางประเทศ และส่วนใหญ่ก็ไม่อาจสามารถสืบย้อนเส้นทางการติดเชื้อได้ 

และดูเหมือนว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม จะไม่เสี่ยงกับการติดเชื้อซ้ำ แม้ว่าจะยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนก็ตาม แต่สายพันธุ์ย่อย BA.2 ติดเชื้อซ้ำได้ง่ายกว่า

และปัจจุบันโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดกว่า 90% ในหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร อินเดีย ฟิลิปปินส์   และแอฟริกาใต้ ดังนั้นแผนการรับมือในปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ เพราะสายพันธุ์ดังกล่าวกำลังเป็นภัยคุกคามโลกที่แท้จริง. 



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง