รีเซต

เปิดสาระสำคัญ มติครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เปิดสาระสำคัญ มติครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
TNN ช่อง16
12 มีนาคม 2567 ( 15:42 )
35

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ และรับทราบผลการพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอ

 

วันนี้ (12 มี.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้ ว่า


1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


2. แก้ไขคำนิยาม “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “การสื่อสารการตลาด” และเพิ่มเติมคำนิยาม “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”4 เพื่อให้มีความชัดเจนและครอบคลุมการบำบัดรักษาในกลุ่มบุคคลมากยิ่งขึ้น


3. คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ


3.1 เพิ่มองค์ประกอบของกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมันตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรัฐมนูตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม


3.2 เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ ให้สามารถกำหนดนโยบาย แผนงาน และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวกับผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเสนอแผนยุทธศาสตร์หรือแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และด้านการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ


4. คณะกรรมการควนคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


4.1 เพิ่มองค์ประกอบของกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจแสะสังคม และปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง


4.2 เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้มีอำนาจหน้าที่ให้สามารถกำหนดนโยบายแผนงาน และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวกับผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนดวันหรือเวลาห้ามขายหรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการกำหนดเวลา ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า


5. คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


5.1 เพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร เช่น ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดและผู้แทนกรมคุมประพฤติ รวมทั้งเปลี่ยนกรรมการโดยตำแหน่งจากหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครเป็นผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุขด้านรณรงค์ทางสังคม


5.2 เพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด เช่น อัยการจังหวัด ปลัดจังหวัด เปลี่ยนกรรมการโดยตำแหน่งจากผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาในจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เป็นศึกษาธิการจังหวัด และเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข ด้านรณรงค์ทางสังคม


5.3 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้มีปัญหาจงกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อคณะกรรมการควบคุม และดำเนินการตามนโยบาย แผนงาน และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดำเนินการให้มีแผนงานในระดับจังหวัด และดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


5.4 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการพัฒนาให้มีระบบและกลไกเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ รวมถึงเฝ้าระวังการกระทำความผิด การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับนโยบายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ การบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


6. เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของรัฐมนตรีในการกำหนดหลักเกณฑ์-วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติมได้


7. เพิ่มเรื่องการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณสถานที่จัดบริการ เพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่ รัฐมนตรีประกาศกำหนด5 โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใด ๆ เท่าที่จำเป็นไว้ด้วยก็ได้


8. การโฆษณา เพิ่มหมวดว่าด้วยการโฆษณา โดยมีบทบัญญัติเรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจ และห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เข้าใจว่าหมายถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 


ตลอดจนห้ามมิให้การอุปถัมภ์หรือให้การสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ในลักษณะที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ใช้บังคับกับการบริจาคหรือการช่วยเหลือตามมนุษยธรรมในกรณีที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง


9. การบำบัดรักษาหรือการฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติดแอลกอฮอล์


9.1 แก้ไขชื่อหมวดจากเดิม “การบำบัดรักษาหรือการฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติดแอลกอฮอล์” เป็น “การบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”


9.2 เพิ่มหน่วยงานที่สนับสนุนเกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น โดยให้มีอำนาจในการส่งเสริมและสนับสนุนิการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพจิตใจดังกล่าว และกำหนดลักษณะของผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการส่งเสริมและสนับสนุนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เป็นตามที่คณะกรรมการควบคุมกำหนด


10 แก้ไขอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น ให้มีอำนาจในการเข้าไปในสถานที่หรือบริเวณสถานีที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณสถานที่ที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน่าจะมีการกระทำความผิด และมีอำนาจในการเรียกและขอดูบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารอื่นใด ในกรณีที่มีการกระทำความผิดหรือกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และอำนาจในการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานหรือวัตถุอื่นใด เพื่อประโยชนในการดำเนินคดี


11 บทกำหนดโทษ เช่น เพิ่มเติมโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 10,000 บาท เพิ่มอัตราโทษปรับในกรณีผู้กระทำความผิดเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้า จากเดิม “ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เป็น “ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”





ข้อมูลจาก รัฐบาลไทย

ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง