รวมยุทธวิธีการสงครามในอดีต บาดแผลที่ส่งผลถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งที่ไม่เคยหายไปจากโลก
ท่ามกลางนานาชาติ ที่เรียกร้อง “สันติภาพ” แต่ทุกวันนี้ เราก็ยังเห็นหลายประเทศพัฒนาอาวุธและเทคโนโลยี ตลอดจนวิธีการใหม่ ๆ มากมาย ที่เกี่ยวข้องกับยุทธวิธีการสงคราม หรือนำมาใช้เพื่อก่อเหตุความไม่สงบ ตั้งแต่รถถังไปจนถึงโดรนล้ำสมัย หรือล่าสุด จะเป็นการเอาอุปกรณ์เทคโนโลยียุคเก่า อย่าง “เพจเจอร์” และ “วิทยุสื่อสาร” มาทำเป็นระเบิดในยุคสมัยใหม่ ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
เทคโนโลยีและยุทธวิธีการโจมตีรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ย่อมมีบทเรียนจากปฏิบัติการในอดีต วันนี้ เราจึงรวบรวมยุทธวิธีทางทหารที่นำมาใช้ในสงครามจริงว่า มีอะไรบ้าง ?
---จับสัตว์มาทดลอง ทำเป็นระเบิดโจมตีศัตรู---
หนึ่งในยุทธวิธีทางทหารที่หลายประเทศพยายามนำมาใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ การนำสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาทำภารกิจทางทหาร โดยเฉพาะใช้เพื่อเป็นพาหนะนำพาระเบิดไปโจมตีฝ่ายศัตรู
อ่านบทความฉบับเต็มเรื่อง: ก่อนจะมีระเบิดเพจเจอร์ โลกเคยนำสัตว์มาทำระเบิด ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
https://www.tnnthailand.com/news/tnnexclusive/176733/
ตัวอย่างโครงการทดลองนำสัตว์มาทำเป็นระเบิด ได้แก่
ระเบิดค้างคาว: เป็นแนวคิดจากทันตแพทย์ ชาวอเมริกัน รายหนึ่งที่เสนอไอเดียนี้ต่อทำเนียบขาว ด้วยการนำระเบิดมาผูกติดไว้ที่ตัวค้างคาว และปล่อยพวกมันลงไปยังเป้าหมายที่ต้องการ โดยอาศัยพฤติกรรมของค้างคาวที่ชอบเกาะบ้านเรือนต่าง ๆ ในช่วงเวลากลางคืน เมื่อค้างคาวนับพันหาที่เกาะได้แล้ว ตัวระเบิดก็จะทำงาน และแน่นอนว่า จะเผาพื้นที่ดังกล่าวให้ราบเป็นหน้ากลอง
โครงการนี้ ได้รับการอนุมัติจากทางรัฐบาลสหรัฐฯ และทุ่มงบไปมากกว่า 66 ล้านบาท แต่อีก 2 ปีต่อมา โครงการนี้ก็ต้องยุติลง เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง และการทดลองยังไม่มีเสถียรภาพมากพอ ขณะเดียวกัน รัฐบาลหันไปให้ความสนใจกับโครงการระเบิดปรมาณูมากกว่า
สุนัขต่อต้านรถถัง: สหภาพโซเวียตก็เป็นอีกหนึ่งในประเทศ ที่พยายามจะนำสัตว์มาทดลองทำเป็นระเบิดในช่วงสงครามโลกที่ 2 ด้วยการนำสุนัขมาฝึก เพื่อดำเนินภารกิจเป็นมือระเบิดฆ่าตัวตาย หวังมุ่งเป้าทำลายรถถังเยอรมนี
โครงการนี้ ใช้สุนัขมากกว่า 40,000 ตัว เพื่อฝึกให้พวกมันเสียสละชีพตนเองขั้นสูงสุด แต่ก็ประสบความสำเร็จในการทำลายรถถังเยอรมนีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น เพราะเมื่อทหารฝ่ายนาซีเห็นสุนัขเหล่านี้ เข้าสู่สนามรบ ก็จะมองว่าเป็นภัยคุกคาม และยิงทันที
ระเบิดหนู: อุปกรณ์สายลับตัวจิ๋วนี้ สร้างขึ้นโดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษของอังกฤษ หรือ SOE ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หน่วย SOE รวบรวมซากหนูทั่วกรุงลอนดอนราว 100 ตัว และได้ยัดวัตถุระเบิดเข้าไปในตัวหนู เพื่อส่งไปยังพื้นที่ที่มีทหารเยอรมนียึดครอง โดยวางแผนว่า จะนำไปวางไว้ในห้องหม้อไอน้ำ และให้ใครสักคนโยนหนูระเบิดเข้าหม้อต้มไอน้ำ เพื่อหวังกำจัดมัน เพราะคิดว่าเป็นซากหนู จากนั้น ระเบิดก็จะทำงาน
แม้ไอเดียจะล้ำ แต่แผนการนี้ก็ไม่เคยได้ถูกใช้งานจริง ๆ เมื่อการขนส่งหนูระเบิดล็อตแรก โดนสกัดกั้นจากชาวเยอรมัน และได้ส่งตัวอย่างหนูเหล่านี้ไปยังโรงเรียนทหารเยอรมัน เพื่อให้นักเรียนนายร้อยได้ศึกษา และระวังตัวจากภัยคุกคามที่คล้ายกัน
--- “คามิคาเซ่” ปฏิบัติการพลีชีพเพื่อชาติ---
นอกจากจะมีสัตว์ที่ต้องถูกนำมาทำการทดลอง พลีชีพเพื่อชาติแล้ว มนุษย์อย่างเราก็เคยต้องสละชีพ เพื่อชาติเช่นกัน โดยผ่านปฏิบัติการที่ชื่อว่า “คามิคาเซ่” หรือ “ฝูงบินพลีชีพ” เป็นแนวคิดจาก พลเรือโททากิจิโร โอนิชิ ในช่วงที่ญี่ปุ่นประสบความพ่ายแพ้ในศึกสำคัญหลายครั้ง พร้อมกับสูญเสียนักบินฝีมือดีจำนวนมากอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถผลิตนักบินรุ่นใหม่มาได้ทัน
ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และความไม่ยอมแพ้ของญี่ปุ่น จึงทำให้นำไปสู่ยุทธวิธีรูปแบบใหม่ นั่นคือ “ปฏิบัติการคามิคาเซ่” ที่ให้นักบินญี่ปุ่น สละชีพเพื่อชาติ ด้วยการขับเครื่องบินที่บรรทุกระเบิดจำนวนหลายร้อยกิโลกรัม พุ่งไปยังเรือรบของฝ่ายพันธมิตร หวังสร้างความเสียหายแก่ศัตรูให้ได้มากที่สุด
“ในความคิดของผม มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะรับประกันว่า กองกำลังอันน้อยนิดของเราจะมีประสิทธิภาพในระดับสูงสุด นั่นคือ การจัดหน่วยโจมตีพลีชีพ ด้วยเครื่องบินรบ A6M Zero พร้อมกับระเบิด 250 กิโลกรัม แล้วแต่ละลำจะพุ่งชนเรือของศัตรู” โอนิชิ กล่าว ขณะเยือนกองบัญชาการกองบินกองทัพเรือที่ 201 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 1944
ภารกิจแรกของหน่วยคามิคาเซ่ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1944 และประสบความสำเร็จ เมื่อนักบินทิ้งระเบิดพลีชีพ ขับเครื่องบินพุ่งใส่เรือรบสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่บริเวณนอกเกาะซามาร์ ฟิลิปปินส์ จนทำให้เกิดความเสียหายทั้งลำ
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ญี่ปุ่นก็ได้ใช้ยุทธวิธีนี้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าจะต้องสูญเสียชีวิตทหารญี่ปุ่นไปมากกว่า 3,800 นาย แต่ก็เชื่อว่า มีทหารฝ่ายตรงข้ามที่ต้องสูญเสียชีวิตจากหน่วยสายลมแห่งสวรรค์ไปมากถึง 7,000 นาย และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
---ฝนเหลือง-ระเบิดนาบาล์ม อาวุธเคมีที่ถูกใช้ในสงครามเวียดนาม---
ผ่านจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ความขัดแย้งที่ใกล้บ้านเรากันบ้าง นั่นคือ “สงครามเวียดนาม” สงครามที่ยืดเยื้อนานเกือบ 20 ปี (ตั้งแต่ปี 1955-1975) ระหว่างฝ่ายกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ นำโดยสหรัฐฯ และเวียดนามใต้ กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ นำโดยเวียดนามเหนือ และสหภาพโซเวียต
สงครามในครั้งนั้น มีการนำอาวุธทางเคมี อย่าง “ฝนเหลือง” และ “ระเบิดนาปาล์ม” เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งแน่นอนว่า อาวุธทั้ง 2 อย่าง ต่างมีอานุภาพที่ร้ายแรง ส่งผลต่อทรัพย์สินและชีวิต
ฝนเหลือง หรือ Agent Orange เป็นการผสมสารเคมี 2 ตัว คือ 2,4-D และ 2,4,5-T ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชในกลุ่ม Chlorophenoxy Herbicide โดยกองทัพสหรัฐฯ นำมาใช้ในสงครามเวียดนาม เพื่อฉีดพ่นบนพื้นที่เวียดนามกว่า 11.3 ล้านไร่ หวังทำลายพื้นป่า, พื้นที่เพาะปลูก และแหล่งน้ำของฝ่ายเวียดนามเหนือ ภายใต้ปฏิบัติการชื่อว่า “Operation Ranch Hand”
ผลจากปฏิบัติการครั้งนั้น ส่งผลให้ชาวเวียดนามราว 3 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากสารพิษไดออกซิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของฝนเหลือง และทำให้เด็กเกิดมาพร้อมกับความพิการในช่วงเวลานั้น อย่างน้อย 150,000 คน ชาวอเมริกันและชาวเวียดนามนับล้านคนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
ขณะที่ ระเบิดนาปาล์ม หรือ Naplam Bomb เป็นการผสมกันระหว่างสารก่อเจล และปิโตรเคมีที่ระเหยง่าย คิดค้นโดย หลุยส์ ฟิเซอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อปี 1942 และนำไปใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นครั้งแรก ก่อนที่ระเบิดนี้ จะเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น เมื่อกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ นำระเบิดนาปาล์มจำนวนมากมาใช้ในสงครามเวียดนาม
มีการคาดการณ์ว่า กองทัพสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนาปาล์มใส่กลุ่มเวียดนามใต้ราว 388,000 ตัน ระหว่างปี 1963-1973 ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าหลายเท่าตัว ตอนที่อเมริกาทิ้งใส่ญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ผลกระทบของระเบิดนาปาล์มจะทำให้เกิดแผลไฟไหม้อย่างรวดเร็ว ทำลายเนื้อเยื่อ จนถึงกระดูก สร้างความทรมานให้กับผู้ได้รับ ตั้งแต่แผลไฟไหม้ไปจนถึงการเสียชีวิต โดยภาพที่มีชื่อเสียงสุด ที่สามารถบันทึกเหตุการณ์ความโหดร้ายในครั้งนั้น คือ ภาพ “Napalm Girl” ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากช่างภาพสำนักข่าว AP ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ขณะที่ “ฟาน ถิ คิม ฟุก” ซึ่งตอนนั้นมีอายุเพียง 9 ปี วิ่งเปลือยเปล่า พร้อมกับแสดงสีหน้าร้องไห้ หลังวิ่งหนีระเบิดนาปาล์มที่ทางกองกำลังต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ทิ้งลงมาใส่หมู่บ้านของเธอ
เมื่อทั่วโลกได้รับรู้ถึงความร้ายแรงของระเบิดนาปาล์ม และมองว่า สิ่งนี้ ทำให้เกิดผลกระทบแบบไร้มนุษยธรรม โดยเฉพาะกับประชาชนบริสุทธิ์ ทำให้ในปี 1980 สหประชาชาติออกคำสั่งห้ามใช้ระเบิดนาปาล์มต่อเป้าหมายพลเรือน
---“คลอรีน” อาวุธกลางเมืองแห่งสงครามซีเรีย---
หลังจากโลกได้รู้ว่า ระเบิด หรือ อาวุธทางเคมีนั้น มีประสิทธิภาพร้ายแรงแค่ไหน หลายประเทศตลอดจนองค์การระหว่างประเทศต่างก็พยายามออกคำสั่งห้ามการใช้งานอาวุธประเภทนี้ในหลายพื้นที่ โดยคำนึงถึงด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก
แม้ว่าในอดีตเราจะมีบทเรียนมากมาย เกี่ยวกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอาวุธเคมี แต่ปัจจุบันก็ยังมีบางประเทศใช้อาวุธประเภทนี้อยู่ ยกตัวอย่างเช่น ซีเรีย ที่นำเอา “คลอรีน” กลับมาใช้เป็นอาวุธร้ายแรงอีกครั้ง ในสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2018 หวังโจมตีฝ่ายตรงข้าม จนส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิต
เหตุการณ์ที่ทำให้แก๊ส “คลอรีน” กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง ในฐานะอาวุธเคมีร้ายแรง คือ เหตุโจมตีด้วยสารเคมีเมืองดูมา ด้วยฝีมือรัฐบาลซีเรีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด และเชื่อว่า สารเคมีชนิดดังกล่าว คือ แก๊สคลอรีน
สมาคมการแพทย์ซีเรียอเมริกัน กล่าวว่า มีระเบิดแก๊สคลอรีนพุ่งโจมตีใส่โรงพยาบาลดูมา คร่าชีวิตประชาชนไปทั้งหมด 6 คน และมีการโจมตีครั้งที่ 2 บริเวณอาคารใกล้เคียงด้วยสารเคมีผสมที่ผสมกัน ซึ่งรวมถึงสารที่ทำลายประสาทด้วย การโจมตีที่เมืองดูมา ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 43 ราย บาดเจ็บมากกว่า 500 คน
ข้อมูลจากสถาบันนโยบายสาธารณะระดับโลก หรือ GPPI ระบุว่า ในระบอบการปกครองของอัสซาด แก๊สคลอรีน เป็นสารที่ถูกใช้งานมากที่สุดในฐานะอาวุธทางเคมี คิดเป็น 91.5% รองลงมาเป็นแก๊สซาริน และสารเคมีอื่น ๆ
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
https://en.wikipedia.org/wiki/Kamikaze
https://www.aspeninstitute.org/programs/agent-orange-in-vietnam-program/what-is-agent-orange/
https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi5/yellowrain/rainn.htm
https://www.prospectmagazine.co.uk/culture/50981/napalms-death
https://vva.org/arts-of-war/history/napalm-an-american-biography-by-robert-m-neer/
https://www.forcesnews.com/technology/weapons-and-kit/what-napalm-and-it-still-used-warfare
https://www.history.com/topics/vietnam-war/agent-orange-1
https://science.howstuffworks.com/napalm.htm
https://www.nationalww2museum.org/war/articles/japans-kamikaze-pilots-wwii
https://www.history.com/news/pearl-harbor-japan-kamikaze-world-war-ii
https://gppi.net/media/GPPi_Schneider_Luetkefend_2019_Nowhere_to_Hide_Web.pdf