รีเซต

พระมหาไพรวัลย์-พระมหาสมปอง: กมธ. ศาสนาฯ แนะเพิ่มสัดส่วนเนื้อหาธรรมะ-ตลกขบขัน 70-30%

พระมหาไพรวัลย์-พระมหาสมปอง: กมธ. ศาสนาฯ แนะเพิ่มสัดส่วนเนื้อหาธรรมะ-ตลกขบขัน 70-30%
บีบีซี ไทย
9 กันยายน 2564 ( 13:29 )
96
พระมหาไพรวัลย์-พระมหาสมปอง: กมธ. ศาสนาฯ แนะเพิ่มสัดส่วนเนื้อหาธรรมะ-ตลกขบขัน 70-30%

คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม (กมธ. ศาสนา) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่ขัดข้องที่พระสงฆ์จะสอนธรรมะแนวบันเทิง แต่ขอความร่วมมือให้พระมหาสมปอง ตาลปุตโต และพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักเทศก์ออนไลน์ชื่อลดเนื้อหาแนวตลกให้น้อยลง

 

 

วันนี้ (9 ก.ย.) กมธ. ศาสนาได้นิมนต์พระมหาสมปองและพระมหาไพรวัลย์แห่งวัดสร้อยทอง มาให้ข้อมูล หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสมของการทำเฟซบุ๊คไลฟ์ผ่านเพจ "พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ" เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ระหว่างพระมหาไพรวัลย์เจ้าของวลีติดหูที่ว่า "สภาพ" ในระหว่างการไลฟ์ และพระมหาสมปองเป็นครั้งแรก

 

 

ประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์มีทั้งในแง่เนื้อหา การแสดงออกของพระสงฆ์ทั้งสองรูประหว่างการไลฟ์ รวมทั้งการที่เพจสินค้าและบริการจำนวนมากเข้าไปคอมเมนต์ในระหว่างการถ่ายทอดสด

 

 

หลังจากใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมงในการหารือ พระมหาสมปองได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าได้ข้อสรุปที่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย โดยมีประเด็นสำคัญ 3 ข้อ คือ

  • ประเด็นแรก ด้านดีของการไลฟ์ คือการทำงานที่ทันยุคทันสมัย
  • ประเด็นที่สอง สิ่งที่ต้องปรับปรุง กมธ. ศาสนาแนะนำให้ระวังมัดระวังเรื่องคำพูด เพราะหากเกิดความผิดพลาดจะแก้ไขได้ยาก โดยมีการตกลงกันว่าสัดส่วนเนื้อหาธรรมะให้คงไว้ที่สัดส่วน 70% ส่วนเนื้อหาตลกขบขันให้อยู่ที่ 30 %
  • ประเด็นที่สาม เรื่องการโฆษณาหรือสินค้าอุปถัมภ์ สามารถทำได้ในลักษณะการตั้งโชว์ แต่ไม่ให้พูดถึงตัวสินค้าที่เป็นการโฆษณา ไม่ให้กล่าวคำชื่นชมหรือเชื้อเชิญให้ผู้ฟังให้การสนับสนุนสินค้านั้น ส่วนผลิตภัณฑ์ที่จะอุปถัมภ์ต้องมีความเหมาะสมกับพระพุทธศาสนา

 

"อาตมาก็ได้ต่อรองไปว่าในช่วงต้นไลฟ์ของเรื่องหาธรรมะ 50% ตลก 50% เพื่อดึงคนให้ฟังไลฟ์ต่อ" พระมหาสมปองกล่าว

 

 

ด้านพระมหาไพรวัลย์กล่าวขอบคุณที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญมารับฟังความคิดเห็น ยืนยันว่าจะนำคำแนะนำของกรรมาธิการฯ ทุกคนไปปรับปรุงให้เหมาะสม

 

 

กมธ. ศาสนาฯ ไม่มีอำนาจชี้ผิดชี้ถูก

นายสุชาติ อุสาหะ ประธาน กมธ. ศาสนา กล่าวภายหลังการหารือว่า ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นในเรื่องของการไลฟ์สดธรรมะ โดยมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ความเห็นของสังคมแบ่งกันเป็นสองฝ่ายเพราะว่าคนในสังคมมีตั้งแต่คนรุ่นเก่า คนรุ่นกลางและคนรุ่นใหม่ ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ขอความร่วมมือนักเทศน์ทั้งสองมาแลกเปลี่ยนและชี้แจงกับกรรมาธิการในประเด็นที่สังคมรู้สึกกังวลใจ เช่น ประเด็นเรื่องการโฆษณาและผู้สนับสนุนว่าจะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด

 

 

ประธาน กมธ. ศาสนายืนยันว่าตามข้อบังคับ กรรมาธิการฯ มีอำนาจในการหารือหรือสอบถามเรื่องดังกล่าว

 

 

"ในนามของคณะกรรมาธิการฯ มองว่าเป็นเรื่องดี สามารถทำได้ ส่วนเนื้อหาสาระใด ๆ ถ้าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร มีคณะผู้ปกครองสงฆ์อยู่ มีเจ้าอาวาส ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้ก้าวล่วงเพราะไม่มีอำนาจชี้ผิดชี้ถูก เรื่องนี้เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร" นายสุชาติกล่าว

 

 

ยอมรับอาจจะมีคำตำหนิ แต่พร้อมปรับปรุงให้ "ไลฟ์เรียบร้อย"

หลังจากเดินทางถึงอาคารรัฐสภา พระสงฆ์ทั้งสองรูปได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนด้วยความผ่อนคลาย โดยพระมหาสมปองกล่าวว่าพร้อมรับฟังว่าส่วนไหนที่เกินเลยหรือขาดไปก็พร้อมที่จะปรับปรุงในลักษณะ "ล.ร.ร." หรือ ไลฟ์เรียบร้อย และกล่าวติดตลกว่าส่วนที่เกินเลยอาจจะเป็นเสียงหัวเราะของพระมหาไพรวัลย์

 

 

"การไลฟ์สดครั้งแรกเหมือนเป็นการเรียนครั้งแรกที่ต้องทักทายนักเรียน เพื่อทำให้เด็กสนใจ แต่ถ้าต่อไปจะเข้าสู่เนื้อหาและสอดแทรกธรรมะ และเด็กอาจจะหลับในคาบต่อ ๆ ไป" ส่วนพระที่ทำการไลฟ์ก็เปรียบเหมือนครูที่สอนคาบแรกแล้วถูกผู้อำนวยการโรงเรียนตำหนิ

 

 

"ซึ่งเมื่อผู้ใหญ่มาตักเตือนก็จะต้องมีการปรับปรุง" พระมหาสมปองอธิบาย

 

 

พระมหาสมปองยอมรับว่าในการทำเฟซบุ๊กไลฟ์ครั้งต่อไปอาจจะไม่เหมือนเดิมอาจมีการปรับรูปแบบให้ดีขึ้น พร้อมกับขอเข้าใจในการทำหน้าที่เพราะบรรยายธรรมมากว่า 20 ปี เข้าดีว่าผู้ฟังแต่ละแบบเป็นอย่างไร ควรจะให้อะไรตอนไหน

 

 

"เรามีจังหวะของเรา" พระนักพูดชื่อดังระบุ

 

 

ทางด้านพระมหาไพรวัลย์กล่าวว่า ไม่กังวลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการไลฟ์สดไม่สำรวม และที่ผ่านมาได้พูดคุยกับหลายฝ่าย อีกทั้งเห็นว่านี่ "ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย" และเห็นว่า "เสียงหัวเราะไม่น่าจะเป็นปัญหาระดับชาติ"

 

 

หลากทัศนะต่อปรากฏการณ์พระสงฆ์จัดเฟซบุ๊กไลฟ์

ปฏิกิริยาและทัศนะจากสังคมที่มีต่อการจัดเฟซบุ๊กไลฟ์ของพระสงฆ์ทั้ง 2 รูป เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมามีอย่างหลากหลายทั้งแสดงการสนับสนุนและชื่นชมเพราะมองว่า เป็นการนำเสนอข้อคิดทางธรรมได้เข้าถึงกลุ่มคนหมู่มาก โดยใช้ภาษาและท่าทีที่เป็นมิตรและอารมณ์ขัน

 

 

อย่างไรก็ตาม บางส่วนก็มองว่า ไม่เหมาะสมเนื่องจากขัดกับจริยวัตรของพระสงฆ์ที่จำเป็นต้องอยู่ในอาการสำรวมเพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือและศรัทธา

 

 

บีบีซีไทยรวบรวมความคิดเห็นและทัศนะบางส่วนที่ถูกกล่าวถึงในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อมาอธิบายเหตุการณ์นี้

  • 5 ก.ย. - ดร.มงคล นาฏกระสูตร อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และอดีตผู้ชำนาญการสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "Mongkol Nath" เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตั้งคำถามว่า การทำเฟซบุ๊กไลฟ์ในแนวตลกจะนำไปสู่การเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา ขัดกับวินัยสงฆ์ สร้างชื่อเสียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์หรือไม่
  • 6 ก.ย. - นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้ความเห็นว่าเท่าที่ดูแล้ว "ไม่ถือว่ามีความผิดวินัยรุนแรงของพระสงฆ์" แต่ได้มอบหมายให้นายสิปป์บวร แก้วงาม โฆษกพศ.และรองผอ.พศ. เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ อาจจะมีการสั่งการอย่างไรอย่างหนึ่งตามสมควร
  • ในวันเดียวกันนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ทำคำร้องส่ง มหาเถรสมาคม เพื่อให้สอบสวนกรณีการไลฟ์สดของพระสงฆ์นักเทศน์ทั้งสองรูป โดยอ้างว่า เป็นการกระทำย่ำยีพระพุทธศาสนา เข้าข่ายต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
  • 7 ก.ย. - นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นส่วนตัวว่า ว่าไม่เหมาะสม เพราะพระสงฆ์จะกลายเป็นดารา เรื่องนี้พระธรรมวินัยห้ามไว้ ไม่ควรทำตัวเป็นดารานักแสดง "ถ้าอยากจะเป็นดาราก็ควรจะลาสิกขาบท"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง