นักวิจัยสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ eDrone ตรวจหาร่องรอยดีเอ็นเอของสัตว์ที่หลงเหลือจากกิ่งไม้
TNN ช่อง16
23 มกราคม 2566 ( 11:10 )
99
อีดีเอ็นเอ (eDNA) หรือ ดีเอ็นเอสิ่งแวดล้อม (Environmental DNA) เป็นสิ่งที่สัตว์ได้ทิ้งไว้ตามธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น อุจจาระของสัตว์ คราบหรือผิวหนัง และสิ่งที่บ่งชี้ทางพันธุกรรมอื่น ๆ โดยสิ่งเหล่านี้จะถูกทิ้งไว้ตามแหล่งน้ำ ดิน หรืออากาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะใช้อีดีเอ็นเอ (eDNA) ที่พบนำมาตรวจสอบเพื่อค้นหาว่าบริเวณดังกล่าวเคยมีสัตว์ชนิดใดเคยอาศัยอยู่บ้าง ที่ผ่านมาได้มีการนำอีดีเอ็นเอ (eDNA) มาใช้ในการตรวจสอบฉลามขาวที่อยู่บริเวณชายฝั่ง เพื่อบันทึกข้อมูลของสัตว์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่การนำไปค้นหาสัตว์ประหลาดในทะสาบล็อคเนส (Loch Ness)
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค (ETH Zürich) จึงได้พัฒนาอีโดรน (eDrone) เพื่อนำมาใช้ในการค้นหาอีดีเอ็นเอ (eDNA) ที่อาจตกหล่นอยู่บนพื้นที่สูง เช่น ตามต้นไม้หรือพื้นผิวของกิ่งไม้ เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกและลดการเสี่ยงอันตรายของนักวิจัย
อีโดรน (eDrone) มีกล้องตรวจจับความลึกและระบบเซนเซอร์อื่น ๆ โดยโดรนจะบินไปยังจุดเป้าหมายโดยอัตโนมัติ แล้วลงจอดที่กิ่งไม้ที่ต้องการเก็บรวบรวมอีดีเอ็นเอ (eDNA) ด้วยอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายกรงเล็บหรือเข็ม ระบบเซนเซอร์ของโดรนจะช่วยตรวจสอบว่าพื้นที่เป้าหมายมีปริมาณอีดีเอ็นเอ (eDNA) มากหรือน้อยแค่ไหน และยังช่วยให้โดรนสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัย เมื่อเก็บหลักฐานทางพันธุกรรมได้แล้ว โดรนจะบินกลับไปเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์เก็บข้อมูลไปทำการวิจัยต่อไป
นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองใช้โดรนบินเก็บข้อมูลจากต้นไม้ 7 สายพันธุ์ เพื่อเก็บอีดีเอ็นเอ (eDNA) ของสิ่งมีชีวิต 21 กลุ่ม โดยทีมวิจัยกำลังเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อค้นหาอีดีเอ็นเอ (eDNA) ให้ได้มากที่สุด ภายในเวลา 24 ชั่วโมง บนพื้นที่ 100 เอเคอร์ ของพื้นที่ป่าฝนในประเทศสิงคโปร์
ที่มาของข้อมูล Newatlas
ที่มาของรูปภาพ ETH Zurich