รีเซต

มายด์ ย้ำ ประชาชนมีสิทธิ์ลงถนน ขณะปารีณาบอก แก้ไข้รัฐธรรมนูญทุกมาตราคือการปฏิวัติ

มายด์ ย้ำ ประชาชนมีสิทธิ์ลงถนน ขณะปารีณาบอก แก้ไข้รัฐธรรมนูญทุกมาตราคือการปฏิวัติ
บีบีซี ไทย
28 ตุลาคม 2563 ( 21:41 )
139
มายด์ ย้ำ ประชาชนมีสิทธิ์ลงถนน ขณะปารีณาบอก แก้ไข้รัฐธรรมนูญทุกมาตราคือการปฏิวัติ

ในรายการ "ถามตรง ๆ" โดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ทางไทยรัฐทีวี วันนี้ (28 ต.ค.) น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ระบุ พล.อ. ประยุทธ์ ต้อง "อยู่อีกยาว" เพื่อแก้ปัญหา และผู้ชุมนุมต้องการปฏิวัติไม่ใช่ประชาธิปไตย ขณะที่ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ หนึ่งในแกนนำกลุ่ม "คณะประชาชนปลดแอก" ย้ำ ประชาชนมีสิทธิ์ลงถนนเมื่อรัฐบาลไม่รับฟัง

 

น.ส.ภัสราวลี บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ หมดความชอบธรรมในการเป็นผู้นำประเทศแล้ว โดยเหตุผลเล็ก ๆ ข้อหนึ่งคือการไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาได้

 

ด้าน น.ส.ปารีณา สวนกลับว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่มีมานาน "นานแสนนาน ...ก่อนที่น้องมายด์จะเกิด" เป็นมาตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร หรือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะทิ้งท้ายว่า "ทำไมตอนนั้นไม่ออกมา"

 

ส.ส.พรรคพลังประชารัฐบอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อเรียกร้องเดียวที่ทำได้ และเป็นสิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ ก็สนับสนุน แต่จะไม่มีการยุบสภา หรือปฏิรูปฯ และพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ลาออก

 

"...ตอนสมัยที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ล้านคนไล่ ยังไม่ยอมออกเลย ตอนนั้นรักษาการ เพราะฉะนั้นคนแสนคนไล่ใครไม่ได้ ...มันไม่ใช่เสียงของประชาชนส่วนใหญ่อย่างชัดเจน"

 

น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่กำหนดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้โดยต้องได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 พร้อมกับบทเฉพาะกาลที่มีการกำหนดอำนาจและที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272

 

Reuters
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ชูสามนิ้วหลังได้รับการประกันตัวที่ศาลแขวงปทุมวัน เมื่อวันที่ 22 ต.ค.

 

แต่ น.ส.ปารีณา กล่าวหาว่า น.ส.ภัสราวลีไม่ติดตามการทำงานของสมาชิกผู้แทนราษฎร โดยบอกว่าที่เธอพูดมาทั้งหมดจะได้รับการแก้ไข ยกเว้นรัฐธรรมนูญมาตรา 2 และ 112

 

ส.ส.ร. จากการเลือกตั้ง

เมื่อพูดถึงประเด็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) น.ส.ภัสราวลี เห็นว่า ต้องการให้มาจากการเลือกตั้ง 100% ซึ่ง น.ส.ปารีณากล่าวว่า ในขั้นตอนการพิจารณา มีแนวโน้มว่าจะให้ที่มาของ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้ง 100% "เพราะในห้องประชุมกรรมมาธิการ[พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ] เขาไปทางนั้นก็หมดแล้ว"

ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า แม้จำนวน ส.ส.ร. ที่ปรากฏในร่างกฎหมายของกลุ่มต่าง ๆ มีจำนวน 200 คนเท่ากัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดทั้งวิธีการได้มา คุณสมบัติ และส่วนผสม อย่างในร่างของ 5 พรรคฝ่ายค้าน ให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วนร่างของประชาชน ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ขณะที่ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ให้ 150 คนมาจากการเลือกตั้ง ส่วนอีก 20 คนมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา, 20 คนจากการคัดเลือกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย แบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์/รัฐประศาสนศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน/การร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน และ 10 คนสุดท้าย เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกของ กกต.

 

ในส่วนบทบาทของ ส.ส.ร.นั้น น.ส.ปารีณา เห็นว่าการจะให้ ส.ส.ร. สามารถแก้ไข้รัฐธรรมนูญทุกมาตราได้ เป็นเรื่องผิด

 

 

"มันเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เพราะเรามีสังคม มีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนานที่เราไม่บังควรไปแตะต้อง การปฏิวัติก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ...มันไม่ใช่เรียกร้องประชาธิปไตย มันปฏิวัติแล้ว

 

ในประเด็นนี้ น.ส.ภัสราวลีบอกว่า ไม่มีใครที่จะสามารถกำหนดได้ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เพราะจำนวน ส.ส.ร ทั้งหมด 200 คนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ต้องมีกลุ่มคนที่หลากหลายความคิดอยู่แล้ว

 

"หนูเชื่อว่าเสียงของคน 200 คนที่มาจากประชาชนน่าจะพิจารณาได้ว่าอะไรเหมาะสมกับประเทศได้ ซึ่งอยากจะให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ๆ"

 

ในระหว่างการแลกเปลี่ยนความเห็นตอนหนึ่ง น.ส.ปารีณาถาม น.ส.ภัสราวลีว่า "ทำไมต้องเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้" และบอกว่า นักประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องแก้ปัญหาในรัฐสภา "เพราะการลงถนนแก้ปัญหาอะไรไม่ได้" และกล่าวด้วยว่าผู้ชุมนุมใช้วาจาหยาบคาย

 

Reuters
น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กับผู้ชุมนุมก่อนถูกตำรวจจับเมื่อวันที่ 21 ต.ค. หลังจากเสร็จสิ้นการนำมวลชนหลายพันคนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังทำเนียบรัฐบาล

 

ด้าน น.ส.ภัสราวลีแย้งว่า "การชุมนุมเป็นสิทธิสากลที่ประชาชนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยสามารถทำได้ ในเมื่อประชาชนมีความไม่พอใจในรัฐบาล ประชาชนต้องมีสิทธิออกมาเรียกร้อง"

เมื่อพิธีกรถามถึงหลักการตามมาตรา 272 ที่เปิดโอกาสให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ก่อนการเลือกตั้งได้ แกนนำกลุ่ม "คณะประชาชนปลดแอก" ผู้นี้ บอกว่า "ขอเป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา"

 

ปฏิวัติไม่ใช่ปฏิรูป

ปารีณาบอกว่าสิ่งที่ภัสราวลีและผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ เรียกร้องไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่อยากใช้การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเปลี่ยนแปลงสังคม

 

"ตอนนี้เยาวชนกำลังสับสนเรื่องรากเหง้าสังคม ศาสนา เรื่องวัฒนธรรมที่เราสืบทอดกันมายาวนาน ไม่ต้องไปยุ่งเลย ...ม็อบกำลังสับสน เพราะจะเอาการปกครองเนี่ยมาเปลี่ยนสังคม การกระทำอย่างเนี่ย มันไม่ต่างจากการปฏิวัติเลย"

 

เมื่อจอมขวัญถามว่า น.ส.ภัสราวลีและผู้ชุมนุมกำลังคิดเกินไปกว่าการปฏิรูปหรือไม่ น.ส.ภัสราวลีบอกว่า อยากให้เปิดใจและไปลองฟังดูในม็อบการชุมนุมเลยว่าที่จริงแล้วคนกำลังเรียกร้องอะไร

 

"ประชาชนต้องการทำให้สังคมนี้ดีขึ้น ไม่ได้ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างอะไรใด ๆ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง