รีเซต

อ่านทุกถ้อยคำ ศาลฎีกาสั่ง 'ปารีณา' พ้น ส.ส. เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป คดีรุกป่า

อ่านทุกถ้อยคำ ศาลฎีกาสั่ง 'ปารีณา' พ้น ส.ส. เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป คดีรุกป่า
มติชน
7 เมษายน 2565 ( 21:05 )
73
อ่านทุกถ้อยคำ ศาลฎีกาสั่ง 'ปารีณา' พ้น ส.ส. เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป คดีรุกป่า

ศาลฎีกาสั่ง ‘ปารีณา’ ผิดฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง พฤติการณ์เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ พ้นตำแหน่ง ส.ส.-เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี กรณีครอบครองที่ดินปฏิรูป เจ้าตัวขอทำใจก่อนชี้แจงสื่อ

 

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2564 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม และขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี

 

โดยวันนี้ น.ส.ปารีณาไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงนายทิวา การกระสัง ทนายความของ น.ส.ปารีณา เป็นตัวแทนเดินทางมาฟังคำพิพากษา

 

คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องสรุป ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่ได้มีอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลัก จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ ที่ผู้คัดค้านที่ดิน 29 แปลง มีเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ และมีทรัพย์สินที่ยื่นไว้กับ ป.ป.ช.กว่า 163 ล้านบาท จึงไม่ได้ผู้ยากไร้ที่ทำกิน เป็นผู้ขาดคุณสมบัติครอบครองที่ดินเขตปฏิรูปตั้งแต่แรก การกระทำของผู้คัดค้านถือว่าไม่รักษาเกียรติภูมิของชาติ เป็นการจัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม มีพฤติการณ์เสื่อมเสีย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ

 

ขณะที่ผู้คัดค้านคัดค้านว่า ได้เข้าครอบครองที่ดินตั้งแต่ปี 2484 ก่อนที่มีการประกาศเป็น พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวน ในปี 2507 โดย นายทวี ไกรคุปต์ บิดา ได้ซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้านผู้มีสิทธิมาทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง และปลูกพืช โดยบิดาได้ยกที่ดินให้ผู้คัดค้านดูแลกิจการ เพื่อนำเงินไปเลี้ยงดูบิดาตั้งแต่ 2555

 

ผู้คัดค้านไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน จึงไม่มีเจตนาบุกรุก เผ้าถางป่า และกรมป่าไม้ไม่เคยปักหมุดเขตป่าสงวนว่ามีพื้นที่เริ่มตั้งแต่แนวใด ทำให้ประชาชนที่เคยครอบครองที่ดินไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน เพราะมีการมาประกาศภายหลัง

 

การที่กรมป่าไม้ดำเนินคดีกับผู้คัดค้านจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาผู้คัดค้านเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน และคืนที่ให้ทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข จึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านบุกรุกที่ตั้งแต่ปี 2549 การยื่นคำร้องคดีนี้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการไต่สวนและมีมติ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนเอง

 

ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ประเด็นต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็น ส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมฯ ข้อ 11 ต้องมีการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือที่เรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อน อันกระทบต่อการสั่งการ หรือใช้ดุลพินิจอำนาจหน้าที่ดูแลควบคุมการตรวจสอบที่ตนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย

 

ซึ่งข้อเท็จจริง ผู้คัดค้านเป็น ส.ส. มีอำนาจเกี่ยวกับนิติบัญญัติ ร่างกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงดูแลตรวจสอบกรมป่าไม้และสำนักงานปฏิรูปที่ดิมเพื่อการเกษตร การครอบครองที่ดินของผู้คัดค้าน นอกจากนี้ ผู้ร้องไม่ได้บรรยายว่าผู้คัดค้านเกี่ยวข้อง หรือมีสิทธิตัดสินใจในกิจการของกรมป่าไม้ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการขัดกันของประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์รวม

 

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อว่า การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ส.ส. ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนมาตราจริยธรรมร้ายแรงฯ ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 3 ข้อ 27 วรรคสองหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านครอบครองที่ดิน 665 ไร่ 1 งาน 53 ตร.ว. เป็นพื้นที่สีส้ม โดยไม่มีเอกสารสิทธิใด ขณะที่ที่ดินบริเวณโดยรอบมียื่นขอออกเอกสารสิทธิ สปก. 4-01 หลายแปลง อีกทั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ กรณีจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าผู้คัดค้านประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ย่อมต้องทราบว่ามีการปฏิรูปที่ดินเช่นเดียวกับคนอื่น

 

ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย.62 สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯประกาศให้มีการยื่นขอปฏิรูปที่ดินอีกครั้ง โดยเอกสารการยื่นขอปฏิรูปที่ดินกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต้องมีอาชีพเป็นเกษตรกร และไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯจะจัดสรรที่ดินให้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ ซึ่งผู้คัดค้านก็ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เพราะมีที่ดินมากกว่าคนอื่น การเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินอาจมีผลให้ผู้คัดค้านสูญเสียที่ดินได้ และการที่ผู้คัดค้านครอบครองที่ต่อจากบิดา โดยรู้ว่าเป็นที่เกษตรกรรม มีเจตนาไม่ส่งคืนเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรและเลี่ยงการเข้ากระบวนการปฏิรูปมาตลอด จนมีการตรวจสอบ ผู้คัดค้านจึงคืนที่ดินให้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข ข้อเท็จจริงหาใช่สมัครใจส่งมอบเองตามที่อ้าง

 

ประกอบกับผู้คัดค้านเป็น ส.ส. 4 สมัย ย่อมมีความรู้เกี่ยวกับที่ดินเขตปฏิรูป การครอบครองที่ดินของจำเลยยังเป็นการปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่นไม่สามารถได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินได้ คนทั่วไปจะแคลงใจว่าเหตุใจผู้คัดค้านจึงสามารถครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปได้หลาย 100 ไร่

 

เมื่อตรวจสอบสถานะผู้คัดค้านมีรายได้จากการเป็น ส.ส. 4 สมัย ใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่ในรัฐสภา ไม่ใช่เกษตรกรอาชีพ มีกรรมสิทธิ์ที่ดินของตัวเองหลาย 10 แปลง และมีที่อยู่อาศัยคนละพื้นที่กับที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินเขตปฏิรูปโดยทราบว่าไม่มีคุณสมบัติและไม่มีเอกสารสิทธิ ส.ส.ย่อมไม่ควรปฏิบัติ การกระทำของผู้คัดค้านเสื่อมเสียเกียรติ และมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ข้อ 17 ที่ต้องรักษาชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่ของ ส.ส. และไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ แม้ต่อมาจะส่งคืนที่ดินทั้งหมดก็ไม่ทำให้การฝ่าฝืนจริยธรรมฯที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไม่เกิดขึ้นได้

 

ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่านำรายได้จากการทำเกษตรในที่ดินเขตปฏิรูปมาเลี้ยงดูบิดา ซึ่งเป็นหลักศีลธรรมนั้น เห็นว่าการเลี้ยงดูบิดาต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และคนทั่วไปก็มีหน้าที่ไม่ต่างจากผู้คัดค้าน

 

พิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่ 25 มี.ค.64 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป มีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ และ พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 81, 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ขัอ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง ทั้งนี้ คำพิพากษาให้มีผลทันที และให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดว่า น.ส.ปารีณายึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็น ส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง

 

ภายหลัง น.ส.ปารีณา ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ทราบคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว และน้อมรับทุกกรณี แต่ขอเวลาทำใจก่อนจะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เพราะขณะนี้ตนไม่พร้อมที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ทั้งนี้ น้ำเสียงของปารีณาค่อนข้างเศร้า แต่ก็ไม่ถึงกับร้องไห้ออกมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง