รีเซต

รู้จัก “กระทรวงแพทยาคม” กระทรวงเวทมนตร์ในอดีตของไทย ที่ใช้ตัดสินคดีด้านไสยศาสตร์

รู้จัก “กระทรวงแพทยาคม” กระทรวงเวทมนตร์ในอดีตของไทย ที่ใช้ตัดสินคดีด้านไสยศาสตร์
TNN ช่อง16
5 ตุลาคม 2567 ( 11:53 )
20

คอนเทนต์เกี่ยวความลี้ลับจากโลกที่เรามิอาจมองเห็น ก็ได้รับผลตอบรับดีอย่างมาก เป็นหนึ่งในเครื่องพิสูจน์ที่บ่งบอกได้เด่นชัดว่า สังคมไทยยังคงมีความเชื่อในเรื่องสิ่งที่มองไม่เห็นอยู่ แต่เรื่องราวเกี่ยวกับผีสาง นางไม้ จะน่ากลัวสักแค่ไหน ก็ไม่มีเรื่องไหนที่น่ากลัวไปมากกว่า “คนเล่นของ” เมื่อคนต่างทำร้ายด้วยกันเอง ผ่านพิธีกรรมสายมืด ซึ่งบางครั้งกฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดคนทำได้ เหลือเพียงแต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎแห่งกรรม 


แต่ในอดีตเคยรู้หรือไม่ว่า ไทยเองก็เคยมีกระทรวงที่คอยตัดสินคดีความเกี่ยวกับเรื่องราวของไสยศาสตร์ คล้ายกับกระทรวงเวทมนตร์ ที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ Harry Potter แต่ของไทยเราใช้ชื่อว่า “กระทรวงแพทยาคม” 


---รู้จัก “แพทยาคม” กระทรวงที่ว่าความเรื่องคุณไสย---


“กระทรวงแพทยาคม” หรือที่เรามักจะเรียกติดปากกันบ่อยในโซเชียลว่า “กระทรวงเวทมนตร์” เป็นหน่วยงานเก่าแก่ในอดีตที่คอยตัดสินคดีความเกี่ยวกับไสยเวท คาถา อาคมต่าง ๆ โดยคาดว่า กระทรวงนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา


ข้อมูลจากรายงานการวิจัย โครงการศึกษารวบรวมข้อมูลด้านการเมืองการปกครองของไทย ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสถาบันฝ่ายตุลาการ จัดทำโดย ศูนย์วิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2546 กล่าวถึงการตรากฎหมายวิธีสบัญญัติ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เมื่อปี 2165 ในสมัยพระเจ้าทรวงธรรม 


จากกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ทราบได้ว่า สมัยกรุงศรีอยุธยา มีศาลที่พิจารณาอรรถคดีต่าง ๆ ทั้งหมด 14 ประเภท ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ศาลกระทรวงแพทยา” มีไว้เพื่อพิจารณาความกล่าวหาว่าเป็นกระสือกระหัง ทําเวทมนต์ อาคม ใส่ว่านยา ทําเสน่ห์ยาแฝดยาเมา รีดลูก โดยผู้เสียหายไม่ถึงตาย หรือคดีพราหมณ์โยคีเป็นโจทก์จําเลยหาความกัน เป็นต้น ถ้าความเกิดในหัวเมืองขุนหมื่นกรมแพทยาหัวเมืองเป็นผู้พิจารณา


จากข้อความดังกล่าว เป็นหนึ่งในเครื่องพิสูจน์ที่สะท้อนได้ว่า ไทยเองก็นำเรื่องไสยศาสตร์ เข้ามาผูกโยงต่อการดำเนินชีวิต และตอกย้ำความเชื่อ เรื่องการเล่นของ คุณไสย ใส่คนด้วยกันเอง 


ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสิทร์ตอนต้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 กระทรวงแพทยาคม ก็ถูกลดบทบาทและอำนาจลง จากกระทรวง เหลือเป็น “ศาลกรมแพทยา” แต่ยังคงเป็นศาลที่ชำระคดีความเกี่ยวกับการกระทำอาคมเวทวิทยาคมแก่กัน 


จากนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 เริ่มมีการปรับปรุงระบบตุลาการ ซึ่งกระบวนการศาลบางอย่างที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อาจไม่เหมาะกับเวลา ณ ตอนนั้น และล้าหลัง โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยเดินหน้าผู้สัมพันธไมตรีกับหลากหลายประเทศ ส่งผลให้ “ศาลกรมแพทยา” ถูกยุบลง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2434 (ข้อมูลจาก “โบราณนานมา” ซึ่งอ้างอิงจากหนังสื่อชื่อ “ThaiLand Only เรื่องแบบนี้ มีแต่ไทย ”)


---ไสยศาสตร์-การมู ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย--- 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวของ “ไสยศาสตร์” และ “การมู” ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย แม้กระทรวงแพทยาคมจะไม่มีแล้วก็ตาม มีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ หรือ มองไม่เห็นเหล่านี้ บางคนที่ไม่เชื่อ ก็มองว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องไร้สาระ และงมงาย 


จากวิทยานิพนธ์ “ไสยศาสตร์เป็นที่พึ่งของคนในสังคมไทยจริงหรือ” เขียนโดย วนิดา ขำเขียว ระบุว่า ไสยศาสตร์เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่มักถูกกีดกันจากคนทั่วไป ลดระดับคุณค่า ในฐานะเป็นความเชื่อที่ไร้เหตุผล แต่กระนั้น หลายศาสนาก็ถูกไสยศาสตร์แทรกซึมอยู่ดี เข้าไปมีบทบาททั้งในส่วนที่เป็นพิธีกรรมและที่เป็นสัญลักษณ์ของศาสนา เห็นได้ชัดเจนผ่านสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมเปิด และมีรากฐานดั้งเดิมของความเชื่อทางศาสนา คือ “ไสยศาสตร์” ที่มีมาก่อนพระพุทธศาสนา แม้ศาสนาพุทธจะเข้ามาเผยแพร่ตั้งแต่สมัยทราวดี แต่ไสยศาสตร์ก็ยังคงอยู่กับสังคมไทย ในขณะที่ประเทศก็ก้าวสู่โลกแห่งเทคโนโลยีแล้ว 


ขณะที่ บทความ “มองอย่างเข้าใจ ไสยศาสตร์ในวิถีเมือง ตัวช่วยรับมือโลกป่วนและความเปลี่ยวเหงา” เขียนโดย ธิติรัตน์ สมบูรณ์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์จากเวทีเสวนา “เคลือบแคลง ย้อนแย้ง แสวงหา: ไสยศาสตร์ในวิถีเมือง” ซึ่งรวบรวมความเห็นของนักวิชาการที่มีต่อความเชื่อทางไสยศาสตร์ 


“หลายคนอาจจะมองว่าไสยศาสตร์เป็นเรื่องลี้ลับ งมงาย แต่หากทำความเข้าใจให้ลึกลงไป ก็จะเห็นว่าไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตเมือง ที่มีความผันผวนและเปลี่ยวเหงา ความเข้าใจหน้าที่ของไสยศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจสภาวะจิตใจของคนที่อยู่ในเมือง” ผศ.ดร.พิพัฒน์ จากคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าว


“ไสยศาสตร์ไม่ใช่เรื่องโบราณล้าสมัย หากเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยนับแต่โบราณมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สังคมเผชิญกับความปั่นป่วนโกลาหล” ผศ.ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว 


---อุตสาหกรรมมู ดึงดูดเม็ดเงิน---


ด้วยความเชื่อและศรัทธาเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ ยังคงแทรกซึมอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ส่งผลให้ “ธุรกิจสายมู” เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดึดดูงเม็ดเงินทั้งจากคนไทยและต่างชาติ บางจังหวัดยกให้เป็นไฮไลต์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว 


กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจด้านความเชื่อและความศรัทธา ตั้งแต่ปี 2562-2566 พบว่า มีอัตราเติบโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยปี 2562 จดทะเบียนจัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียน 15.4 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2566 จัดตั้ง 33 ราย ทุนจดทะเบียน 26.88 ล้านบาท ส่วนเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จัดตั้ง 12 ราย ทุนจดทะเบียน 7.51 ล้านบาท


สำหรับผลประกอบการของธุรกิจ รายได้รวมของธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบปี 2562 กับปี 2565 จะพบว่า มีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น โดยปี 2562 รายได้รวมของธุรกิจสายมู อยู่ที่ 24.28 ล้านบาท สินทรัพย์ 49.54 ล้านบาท กำไร 1.12 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2565 รายได้รวม 148.99 ล้านบาท สินทรัพย์ 103.32 ล้านบาท แต่ขาดทุน 1.7 แสนบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การขาดทุนในปี 2565 ลดลง 1.69 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90.86% 


ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดว่าปี 2566 จะมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท


เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 

https://ejournals.swu.ac.th/index.php/hm/article/view/603/602

https://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M8_185.pdf

https://www.facebook.com/share/p/XCf9fgy1ut3r5wWs/

https://www.chula.ac.th/clipping/145035/

https://www.chula.ac.th/highlight/144639/#-

https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1120491

ข่าวที่เกี่ยวข้อง