ข่าวปลอมล่าสุด! เช็ก 10 อันดับที่คนสนใจ มีเรื่องอะไรบ้าง เจอแบบนี้อย่าหลงเชื่อ
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 26 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2567 ว่าพบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,199,988 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 154 ข้อความ ทั้งนี้ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 140 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 13 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 135 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 57 เรื่อง
ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 78 เรื่อง อาทิ บัญชีไลน์ผู้เชี่ยวชาญในด้านการลงทุนจากสำนักงาน ก.ล.ต. ชักชวนลงทุนเป็นต้น
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 34 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 7 เรื่อง อาทิ 5 - 6 วันนี้อาจมีข่าวแผ่นดินไหว เพราะพายุสุริยะที่เข้มข้นกำลังมา เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 9 เรื่อง อาทิ กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อกรุงไทยผ่อนแสนละ 1,866.67 บาทต่อเดือน ผ่านเพจสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 7 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ
โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง Meta ส่งลิงก์เว็บไซต์ให้กรอกข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้บัญชีถูกลบอย่างถาวร
อันดับที่ 2 : เรื่อง กรมบัญชีกลางแจ้งระบบ CGD มีการอัปเดตใหม่ ข้าราชการต้องอัปเดตให้เป็นข้อมูลล่าสุดผ่านลิงก์
อันดับที่ 3 : เรื่อง ระวังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง หากยืนฉี่ตอนอาบน้ำ
อันดับที่ 4 : เรื่อง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อนุญาตใบทะเบียนพาณิชย์งานแพ็กสบู่ที่บ้าน
อันดับที่ 5 : เรื่อง ข้าราชการบำเหน็จบำนาญ เอกสารช่วยเหลือค่าครองชีพตกหล่น รีบติดต่อที่ cgd.xu-line.cc
อันดับที่ 6 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กชื่อ "ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน" เป็นเพจจริงของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
อันดับที่ 7 : เรื่อง ตำรวจติดต่อส่งรายละเอียดและหมายอาญาให้ประชาชนทางไลน์
อันดับที่ 8 : เรื่อง ทำใบขับขี่หรือต่อใบขับขี่ ผ่านเพจ DLT รับต่อและทำใบขับขี่-เร่งด่วน
อันดับที่ 9 : เรื่อง น้ำมันปลาช่วยต้านปอดอักเสบ
อันดับที่ 10 : เรื่อง ลุกจากที่นอนกะทันหัน ทำให้กระดูกกะโหลกศีรษะแตก หัวใจหยุดเต้น
“จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการมากถึง 7 อันดับ โดยส่วนใหญ่รูปแบบการหลอกลวง จะเป็นการแอบอ้างเป็นหน่วยงานของทางภาครัฐ ทำให้ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อ และเกิดความเสียหาย ตลอดจนการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในสังคมจึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร” นายเวทางค์ กล่าว
ทั้งนี้ ดีอี มีความห่วงใยประชาชนในเรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์/โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน และมีการส่งต่อข้อมูลข่าวปลอมเหล่านี้ ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอม ดังกล่าว โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง