รีเซต

ดีอี เตือนภัย 5 คดี อาชญากรรมออนไลน์ หลอกลวง – ข่มขู่ สูญเงินกว่า 4 ล้าน

ดีอี เตือนภัย 5 คดี อาชญากรรมออนไลน์ หลอกลวง – ข่มขู่ สูญเงินกว่า 4 ล้าน
TNN ช่อง16
19 พฤศจิกายน 2567 ( 11:48 )
24
1

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 11 – 17 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

 

คดีที่ 1 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 2,982,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แจ้งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้ายาเสพติดจากคำซัดทอดของผู้ต้องหา จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนทาง Line มีการสนทนาผ่าน VDO Call และขอตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชี หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมาย ตนหลงเชื่อ จึงให้ความร่วมมือและโอนเงินไป ภายหลังการโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 652,068 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ Shopee ชักชวนทำงานหารายได้พิเศษ ตนสนใจจากนั้นเพิ่มเพื่อน ทาง Line มิจฉาชีพแจ้งให้ตนเลือกสินค้าเพื่อนำมาโพรโมต ช่วงระหว่างรอสินค้ามีกิจกรรมให้เข้าร่วมเป็นการโอนเงินลงทุน ช่วงแรกได้รับผลตอบแทนจริง ภายหลังตนลงทุนเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่ได้รับเงิน มิจฉาชีพแจ้งว่าตนทำรายการผิดพลาด ต้องโอนเงินเพิ่มเพื่อให้ทางระบบเปิดให้ทำการแก้ไข ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

 คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 441,978 บาท โดยผู้เสียหายได้พบโฆษณารับสอนเทรดหุ้นผ่านช่องทาง Tiktok ตนสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อสอบถามรายละเอียดและสมัครสมาชิก จากนั้นมิจฉาชีพให้ตนทดลองเทรดหุ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและสามารถถอนเงินออกมาได้ ต่อมามีการดึงข้า Group Line และให้ลงทุนเทรดหุ้นเพิ่ม รอบแรกได้เงินคืน ภายหลังลงทุนเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่สามารถ ถอนเงินได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าตนทำรายการผิดพลาดจะต้องโอนเงินไปเพื่อให้ทางระบบ เปิดให้ทำการแก้ไข หลังจากโอนเงินเสร็จยังไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 414,570 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้พบโฆษณาชักชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทาง Facebook ตนสนใจจึงเพิ่มเพื่อน ทาง Line จากนั้นถูกดึงเข้า Group Line มิจฉาชีพแนะนำและสอนขั้นตอนต่างๆ แล้วให้โอนเงินเพื่อทำการเทรดหุ้น ในครั้งแรกจะยังไม่ได้รับผลตอบแทน มิจฉาชีพแจ้งว่าให้โอนเงิน เทรดหุ้นเพิ่มขึ้นก่อน ตนหลงเชื่อจึงโอนเงินเพิ่ม ต่อมาได้ถูกลบออกจาก Group Line จึงได้ติดต่อสอบถามกับบริษัทที่ได้ลงทุน จึงทราบว่าบริษัทถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแอบอ้าง ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 5  คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 187,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Tiktok อ้างตนว่ามีอาชีพเป็นวิศวกร อยู่ต่างประเทศ ใช้โพรไฟล์เป็นชายหนุ่มหน้าตาดี และได้เพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นพูดคุยกันจนสนิทใจ ต่อมามิจฉาชีพแจ้งกับตนว่ากำลังจะหมดสัญญากับทางบริษัทได้เซ็นใบลาออกและรับเงินชดเชย ระหว่างเดินทางไปรับเงินได้ถูกควบคุมตัว จึงขอให้ตนช่วยเหลือโอนเงินค่าประกันตัวให้ โดยอ้างว่าจะคืนเงินให้ภายหลัง ตนหลงเชื่อจึงโอนเงินไป จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่าได้โอนเงินคืนให้แล้วผ่านสำนักงานรับโอนเงินระหว่างประเทศ Western Union ตนจึงเดินทางไปตรวจสอบแต่กลับไม่พบข้อมูล ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

 สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 4,677,616 บาท

 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้

 

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,219,066 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,200 สาย

 

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 384,397 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,134 บัญชี

 

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 114,034 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 29.67 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 94,044 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.47 (3) หลอกลวงลงทุน 58,595 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 15.24 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 32,488 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.45  (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 29,957 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.79 (และคดีอื่นๆ 55,279 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.38)

 

 “จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ผ่านทางโทรศัพท์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่ ผู้เสียหายเกี่ยวกับการลักลอบค้ายาเสพติดและให้ผู้เสียหายติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย คือ Line เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน รวมทั้งหลอกลวงชวนหารายได้พิเศษและชักชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการข่มขู่ผู้เสียหายอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่ามีการกระทำผิดในการลักลอบค้ายาเสพติด ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์ AOC 1441 เพื่อความแน่ใจ ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ เพื่อความปลอดภัย

 

ด้านกรณีการร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ทั้งการให้ข้อมูลส่วนบุคคล และทำการเพิ่มเพื่อนในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างรอบคอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัพโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

 

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) |  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง