โควิด : ฮ่องกงผวา! หนุ่มติดเชื้อ “ซ้ำสอง” เคสแรกของโลกที่มีผลตรวจยืนยัน
โควิด : ฮ่องกงผวา! หนุ่มติดเชื้อ “ซ้ำสอง” เคสแรกของโลกที่มีผลตรวจยืนยัน
โควิด : ฮ่องกงผวา! - วันที่ 25 ส.ค. บีบีซี รายงานกระแสหวาดวิตกการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ใน ฮ่องกง เมื่อชายวัยราว 30 ปีตรวจพบว่าติดไวรัสมรณะเป็นครั้งที่ 2 ราว 4 เดือนครึ่งหลังพบเชื้อครั้งแรก
หนำซ้ำการตรวจหาลำดับคู่เบสในสายดีเอ็นเอทั้งหมด (genome sequencing) ของผู้ป่วยรายนี้ยังพบว่าเป็นไวรัสต่างสายพันธุ์กัน 2 สายพันธุ์ และถือเป็นการติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำสองที่พิสูจน์ทางการแพทย์เป็นกรณีแรกของโลก
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนกจากข้อมูลผู้ป่วยเพียงคนเดียว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่าการติดเชื้อซ้ำเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากและไม่จำเป็นต้องคิดจริงจัง
รายงานจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ตีพิมพ์ผ่านวารสารการแพทย์ Clinical Infectious Disease ระบุว่าชายคนดังกล่าวอายุ 33 ปี อาศัยอยู่ในฮ่องกง และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ในช่วงรับเชื้อครั้งแรกชายคนนี้มีอาการเจ็บคอ ไอแบบมีเสมหะ มีไข้ และปวดศีรษะต่อเนื่องนาน 3 วัน ก่อนเดินทางมาโรงพยาบาลและตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มี.ค.
จากนั้นแอดมิตในวันที่ 29 มี.ค. และอาการเริ่มดีขึ้นกระทั่งได้รับอนุญาตให้กลับบ้านเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ภายหลังผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้ง 2 ครั้งออกมาเป็นลบ
อย่างไรก็ตาม ชายคนเดิมซึ่งต่อมากลับจากสเปนโดยเดินทางผ่านประเทศอังกฤษ พบว่าติดเชื้อโควิด-19 อีกครั้งจากกระบวนการตรวจหาเชื้อที่สนามบินฮ่องกงเมื่อ 15 ส.ค. จึงถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งตลอด 14 วันที่แอดมิต ชายคนนี้ไม่แสดงอาการ ระบบต่างๆ เป็นปกติ และมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 36.5 องศาเซลเซียส
เบรนแดน เวร์น ศาสตราจารย์ด้านจุลินทรีย์ก่อโรค วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “นี่เป็นตัวอย่างการติดเชื้อซ้ำที่เกิดขึ้นได้ยาก และไม่ควรยับยั้งแรงขับเคลื่อนของโลกต่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19”
ด้าน ดร.เจฟฟรีย์ บาร์เรตต์ นักวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษาประจำสถาบันเวลล์คัม แซงเกอร์ ในอังกฤษ ระบุว่าจากจำนวนผู้ป่วยทั่วโลก การพบผู้ติดเชื้อซ้ำไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แม้จะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมากๆ ก็ตาม
ส่วน พอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอัสต์แองเกลีย กล่าวว่าจำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยคน รวมถึงการติดเชื้อซ้ำในกรณีอื่นๆ ก่อนจะสามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้
ทั้งนี้ กลไกของร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเมื่อมีการติดเชื้อ ช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับไวรัส และป้องกันการติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง สำหรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่มีความแข็งแกร่งที่สุดจะพบในผู้ป่วยอาการหนัก แต่ยังไม่แน่ชัดว่าการปกป้องหรือภูมิคุ้มกันนี้แข็งแกร่ง รวมถึงต้านทานไวรัสได้นานแค่ไหน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: