รีเซต

ประชุมคณะกมธ. ความร่วมมือไทย-เวียดนามครั้งที่ 4 หารือส่งเสริมความร่วมมือรอบด้าน

ประชุมคณะกมธ. ความร่วมมือไทย-เวียดนามครั้งที่ 4 หารือส่งเสริมความร่วมมือรอบด้าน
มติชน
23 พฤศจิกายน 2564 ( 18:38 )
55
ประชุมคณะกมธ. ความร่วมมือไทย-เวียดนามครั้งที่ 4 หารือส่งเสริมความร่วมมือรอบด้าน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน

 

ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้านทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีภายใต้แนวคิด “ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งเพื่อการฟื้นฟูและเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” เพื่อผลักดันความร่วมมือที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนของทั้งสองประเทศ และช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้ไทยและเวียดนามเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไปด้วยกัน

 

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีการหารือระดับสูงระหว่างสองประเทศอย่างสม่ำเสมอแม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และได้หารือกันเกี่ยวกับแผนการแลกเปลี่ยนเยือนระดับสูงระหว่างกันที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2565 เช่น การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat – JCR) ครั้งที่ 4 ซึ่งเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพในปี 2565

 

ประเด็นสำคัญของการประชุมมี 3 เรื่องสำคัญ ประการแรกเรื่องความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโควิด-19

 

 

๐การฟื้นฟูการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างไทยกับเวียดนามมากขึ้น โดยจะยอมรับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนของแต่ละฝ่าย เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางธุรกิจและการค้า ฝ่ายเวียดนามขอบคุณฝ่ายไทยที่อนุญาตให้บุคคลที่เดินทางจากเวียดนามที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วสามารถเดินทางเข้าไทยได้ทางอากาศตามแนวมาตรการ Test and Go ในขณะที่ฝ่ายไทยยินดีที่ฝ่ายเวียดนามจะอำนวยความสะดวกมากให้ผู้เดินทางจากไทยที่ฉีดวัคซีนครบถ้วนเดินทางเข้าเวียดนามโดยสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและราชการ

 

๐ด้านสาธารณสุข เห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุขให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ ด้านการพัฒนาและวิจัยวัคซีน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร

 

๐ด้านการค้า และการลงทุน จะเพิ่มพูนปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพื่อเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะนี้ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของเวียดนามในอาเซียน ส่วนเวียดนามเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการในด้านที่สำคัญร่วมกัน อาทิ

 

  1. การบรรลุเป้าหมายการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 ซึ่งผู้นำของสองประเทศได้เห็นชอบร่วมกัน โดยจะจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ในโอกาสแรกเพื่อหารือการอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน
  2. การส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยกับเวียดนามภายใต้บริบทของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลกันได้
  3. การส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและขนส่งข้ามแดนระหว่างไทยกับเวียดนาม รวมถึงการขนส่งผ่านไปยังประเทศที่สามให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
  4. การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของไทยในเวียดนาม โดยขณะนี้ไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 9 ในเวียดนามและได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยยินดีต้อนรับการลงทุนจากเวียดนามเพิ่มขึ้นซึ่งมีการขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ จะเร่งรัดการจัดตั้งหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนามและกลไกการหารือเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการลงทุนไทยในเวียดนามด้วย
  5.  

 

นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามมุ่งส่งเสริมความร่วมมือในมิติใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ อาทิ 1.  ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนความยั่งยืน โดยจะเริ่มหารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือและความเกื้อกูลกันระหว่างแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) ของไทย กับ National Green Growth Strategy (ค.ศ. 2021 – 2030) ของเวียดนาม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล และรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ อาทิ ในสาขาพลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ อาหาร และสินค้าเกษตรต่าง ๆ 2. เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างกัน รวมถึงการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างไทยกับเวียดนาม

 

ประการที่ 2. ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงอย่างสม่ำเสมอและจะกระชับความร่วมมือในด้านการทหารและความมั่นคงให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการเดินหน้าพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการปรึกษาหารือกันผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ และเดินหน้าความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล การแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) รวมถึงพัฒนาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ อาทิ การแพทย์ทหาร การค้นหาและกู้ภัย การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การบรรเทาสาธารณะภัย และปราบปรามการค้ามนุษย์

 

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะหารือและประสานงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในประเด็นยุทธศาสตร์ที่มีความสนใจร่วมกันท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นของมหาอำนาจ โดยไทยและเวียดนามจะร่วมมือกันส่งเสริมการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ ACMECS และจะร่วมมือกันสนับสนุนความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียนรวมถึงความสามารถของอาเซียนในการรับมือและแก้ไขปัญหาในภูมิภาค อาทิ การสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของอาเซียนในกรณีเมียนมา โดยเฉพาะการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียน และบทบาทของอาเซียนในกรณีทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยยินดีที่เวียดนามพร้อมจะสนับสนุนบทบาทของไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมเอเปคในปี 2565

 

 

ประการที่ 3 เรื่องความเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 45 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีนี้ และเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในระดับประชาชน โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการศึกษาและการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนเยาวชน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายยืนยันการสนับสนุนบทบาทที่แข็งขันของสมาคมมิตรภาพ กลุ่มสมาชิกมิตรภาพรัฐสภา และสมาคมต่าง ๆ ระหว่างสองประเทศ เพื่อให้มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมความเข้าใจและการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ

 

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือเพื่อการพัฒนามากขึ้น รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะดำเนินความร่วมมือแบบไตรภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เพื่อการส่งเสริมพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 

ผลลัพธ์ของการประชุม JCBC ไทย – เวียดนาม ในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จและเป็นที่พึงพอใจของทั้งไทยและเวียดนาม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนไทยและเวียดนามอย่างเป็นรูปธรรม ที่ประชุมยังได้ร่วมกันยินดีที่มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ได้แก่ 1. ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับเวียดนาม 2.  ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเวียดนาม และ 3. การสถาปนาเมืองคู่มิตรระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับจังหวัดเถื่อเทียน – เว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง