รีเซต

โกลบอลโฟกัส : โควิด"เดลตา" สายพันธุ์มหันตภัย

โกลบอลโฟกัส : โควิด"เดลตา" สายพันธุ์มหันตภัย
มติชน
22 มิถุนายน 2564 ( 18:37 )
67
โกลบอลโฟกัส : โควิด"เดลตา" สายพันธุ์มหันตภัย

 

“เดลตา แวเรียนท์” เชื้อซาร์ส-โควี-2 กลายพันธุ์ที่ปรากฏครั้งแรกที่อินเดียในราวเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
ในเวลานั้น อินเดีย มีเชื้อก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์แพร่ระบาดอยู่ 3 ตัวด้วยกัน คือ บี.1.617.1, บี.1.617.2 และ บี.1.617.3
แต่มีเพียง บี.1.617.2 เท่านั้นที่องค์การอนามัยโลก ยกระดับขึ้นเป็น “แวเรียนท์ ออฟ คอนเซิร์น” สายพันธุ์จากการกลายพันธุ์ที่น่าวิตก ควบคู่กับ สายพันธุ์ อัลฟา (บี.1.1.7) หรือสายพันธุ์เคนท์ จากอังกฤษ, เบตา (บี.1.351) ซึ่งพบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ และ แกมมา (พี.1) ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศบราซิล

 

 


เมื่อ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ให้ข้อมูลล่าสุดว่า พบ “เดลตา แวเรียนท์” ระบาดอยู่ในมากกว่า 80 ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย จะเรียกว่าเป็นการแพร่ระบาดออกไปทั่วโลกแล้วก็ว่าได้
หนักหนาที่สุด เป็นที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) ซึ่ง เดลตา กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ที่นั่นในเวลานี้

 

 


ข้อมูลของทางการอังกฤษในเวลานี้พบว่า ผู้ป่วยจากการติดเชื้่อใหม่ๆ ในยูเค มากถึง 96 เปอร์เซ็นต์ เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์นี้
ในสหรัฐอเมริกา เดลตา แวเรียนท์ เพิ่มสัดส่วนของการติดเชื้อใหม่จาก 6 เปอร์เซ็นต์เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมด ได้ภายในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น
ทำให้ ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงยกระดับ บี.1.617.2 ขึ้นเป็น แวเรียนท์ ออฟ คอนเซิร์น เท่านั้น ยังยอมรับว่า อีกไม่ช้าไม่นาน “เดลตา แวเรียนท์” นี้จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดของสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ ในทำนองเดียวกับที่สหราชอาณาจักร

 

 


นักวิทยาศาสตร์ศึกษาวิจัยเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้แล้วออกมาเตือนให้ระวังกันตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะพบว่า เดลตา แวเรียนท์ แพร่ระบาดได้ดีกว่า มากกว่า สายพันธุ์ที่ถือว่าระบาดเร็วที่สุดก่อนหน้านี้อย่าง “อัลฟา” ถึง 6 เท่าตัว

 


“อัลฟา” เอง แพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์โควิดดั้งเดิมอยู่หลายเท่าตัวอยู่แล้ว ทำให้ขีดความสามารถในการแพร่ระบาดของ เดลตา แวเรียนท์ น่าวิตกอย่างยิ่ง

 

 


ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลของผู้ป่วยโควิดในสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นด้วยว่า ผู้ที่ติดเชื้อ เดลตา แวเรียนท์ นี้ มีแนวโน้มที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สูงกว่าการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ อีกต่างหาก

 

 


ในถ้อยแถลงขององค์การอนามัยโลก เมื่อ 16 เตือนเอาไว้ด้วยว่า มีรายงานผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์เดลตา ยังสามารถก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ราว 1 เท่าตัวอีกด้วย
แม้ว่าจะยังจำเป็นต้องเร่งศึกษาวิจัยเพื่อยืนยันข้อสรุปนี้ต่อไปอีกก็ตาม

 

 

 

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งซึ่งได้จากผลการตรวจสอบข้อมูล และการศึกษาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญก็คือ ผู้ที่ติดเชื้อ เดลตา แวเรียนท์ อาจแสดงอาการออกมาผิดแผกไปจาก อาการที่แสดงออกในการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ

 

 


ซึ่งนั่นทำให้เราไม่ระมัดระวัง ไม่รู้ตัวว่า ติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 เข้าให้แล้ว เพราะติดอยู่กับคำบอกเล่าเกี่ยวกับอาการที่แสดงออกทั่วไป ตามที่รู้กันทั่วไปก่อนหน้านี้
อาการ “มาตรฐาน” ของการติดเชื้อโควิดก่อนหน้านี้โดยหลักก็คือ อาการมีไข้, ไอแห้งๆ, สูญเสียความสามารถในการรับรู้กลิ่น, รส
แต่ เดลตา แวเรียนท์ ทำให้ ซีดีซี ของสหรัฐอเมริกา ต้อง “อัพเดต” กลุ่มอาการจากการติดเชื้อโควิด-19 เสียใหม่ในเวลานี้ ให้ครอบคลุมทั้ง อาการ อ่อนล้า, ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดทั่วตัว, ปวดหัว, เจ็บคอ, อาการบวมเลือดคั่้ง, น้ำมูกไหล, คลื่นเหียนอาเจียน และ ท้องร่วง

 

 


ผู้เชี่ยวชาญเตือนเอาไว้ด้วยว่า “เดลตา แวเรียนท์” มีแนวโน้มที่จะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นในตัวผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อยอีกด้วย ประเด็นนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยอยู่อย่างรีบเร่ง

 

 


ทิม สเปคเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านพันธุกรรมระบาดวิทยา ประจำ คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและดำเนินการ “โซ โควิด ซิมป์ทอม สตัดดี” ด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชันขึ้นมาให้ผู้ที่ติดเชื้อเข้าไปกรอกข้อมูลอาการ สำหรับนำมาใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยการระบาดหนนี้ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า อาการของโควิดในผู้ป่วยใหม่ๆ ในเวลานี้แตกต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนหนุ่มสาววัยเยาว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเดลตามากที่สุด

 

 


“อาการที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ไม่เหมือนกับที่ทางการเคยบอกเอาไว้ แต่กลับมีอาการเหมือนกับเป็นไข้หวัดหนักๆ แรงๆ เสียมากกว่า ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ได้ตระหนักว่าติดเชื้อโควิด-19” จนกระทั่งได้รับการวินิจฉัยในเวลาต่อมา ศาสตราจารย์สเปคเตอร์ระบุ

 

 


นักวิชาการรายนี้บอกว่า นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ กลุ่มอาการที่พบมากที่สุดเมื่อติดเชื้อ “เปลี่ยนไปจากที่เคยพบแต่เดิม

 

 


อาการที่พบมากที่สุดเรียงตามลำดับก็คือ “ปวดศีรษะ, เจ็บคอหรือคออักเสบ, น้ำมูกไหล และ มีไข้”

 

 

 

ในสหราชอาณาจักร เดลตา แวเรียนท์ กลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเป็นหลัก และมีแนวโน้มที่น่ากลัว เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว รวมถึงคนที่ “ยังไม่ได้รับวัคซีน”

 

 


คนกลุ่มเหล่านี้ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้นทุกที จนเป็นเหตุให้ นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ต้องตัดสินใจชะลอการ “ปลดล็อก” มาตรการเข้มงวดที่บังคับใช้อยู่ออกไปอีกระยะหนึ่ง
สถานการณ์ในสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เดลตา แวเรียนท์ แพร่ระบาดได้รวดเร็วแค่ไหน ใช้เวลาไม่นานก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักไป

 

 


ในสหรัฐอเมริกา นายแพทย์ สก็อต ก็อตต์เลียบ อดีตผู้อำนวยการองค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่า เดลตา แวเรียนท์ จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาในอีกไม่ช้าไม่นาน

 

 


มากถึงขนาดที่สามารถก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นได้ในช่วงก่อนหน้าหนาวของปีนี้

 

 


ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นประเทศที่โครงการกระจายวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชากรของตน ประสบความสำเร็จสูงยิ่งทั้ง 2 ประเทศ
ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า วัคซีนทั้งหลายที่เรามีใช้กันอยู่ มีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไรกับ เดลตา แวเรียนท์ นี้?

 

 

 

ทีมวิจัยในสหราชอาณาจักร ศึกษาวิจัยการก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อได้รับวัคซีน 2 ชนิด คือ ไฟเซอร์-ไบออนเทค กับ แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่ใช้กันในยูเค เมื่อได้รับเชื้อ เดลตา, อัลฟา และ เบตา เข้าไป

 

 


งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน เดอ แลนเซท เมื่อต้นเดือนมิถุนายนชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า ระดับแอนติบอดี (ที่จัดการกับไวรัส) ในร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ แล้วได้รับเชื้อ เดลตา จะ “ต่ำกว่า” ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้แต่ได้รับเชื้อ อัลฟา ถึง 6 เท่าตัว

 

 


สอดคล้องกับงานวิจัยของสถาบันปาสเตอร์แห่งฝรั่งเศส ที่แสดงให้เห็นว่า แอนติบอดีเพื่อยับยั้งการติดเชื้่อซึ่งวัคซีนไฟเซอร์สร้างขึ้นในร่างกายเรานั้น จะลดลงระหว่าง 3-6 เท่าตัว ในกรณีที่เราติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเมื่อเทียบกับการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาชี้ว่า ผลการศึกษานี้เป็นเพียงการประเมินผลในห้องทดลอง ซึ่งแตกต่างจากในสภาพความเป็นจริง

 

 

 


เหตุผลคือ ในห้องทดลองสามารถวัดได้เพียงระดับของแอนติบอดี แต่ไม่ได้นำเอา “แนวรบที่ 2” ในร่างกายมนุษย์มาคำนึงประกอบด้วย นั่นคือการเกิด “ที-เซลล์” เซลล์พิเศษของร่างกายที่ทำหน้าที่โจมตีเพื่อ “กำจัด” เซลล์ที่ติดเชื้อในร่างกาย ไม่ได้โจมตีต่อตัวไวรัสเหมือนแอนติบอดี
ผลการศึกษาจากการสังเกตการณ์สถานการณ์จริงในสหราชอาณาจักร ในกลุ่มตัวอย่าง 14,000 คนพบว่า วัคซีนไฟเซอร์ สามารถป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเดลตา แวเรียนท์ ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 96 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันได้ 92 เปอร์เซ็นต์
ส่วนการป้องกันไม่ให้ เดลตา แวเรียนท์ ก่อให้เกิดอาการในตัวคนที่ติดเชื้อนั้น ไฟเซอร์ ทำได้ 88 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ ป้องกัน อัลฟา แวเรียนท์ ได้ถึง 93 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแอสตร้า ป้องกันเดลตาได้ 60 เปอร์เซ็นต์ อัลฟา 66 เปอร์เซ็นต์

 

 


นั่นแสดงให้เห็นว่า วัคซีน อย่าง ไฟเซอร์-ไบออนเทค และ แอสตร้าเซนเนก้า ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่สูงมากก็ตาม
และยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง