"สุริยะ" ชงครม.สัญจรวันนี้ เคาะลดภาษีบุคคลกระตุ้นซื้อรถใหม่
“สุริยะ”ชงครม.สัญจรวันนี้ เคาะลดภาษีบุคคลกระตุ้นซื้อรถใหม่-อนุมัตินิคมสมาร์ท ปาร์ค
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัญจรกลุ่มภาคตะวันออก1 ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี (กลุ่มจังหวัดอีอีซี) วันที่ 24-25 สิงหาคม ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะรายงานภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ภาพรวมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเตรียมเสนอให้พิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในไทยและรองรับสัญญาณแนวโน้มที่คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ภาพรวมจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2564
นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้จะเสนอครม.ให้อนุมัติก่อสร้างโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมฯมาตาพุด จ.ระยอง พื้นที่โครงการประมาณ 1,383.76 ไร่ หากอนุมัติคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 เปิดดำเนินการได้ไตรมาส1 ปี 2567 จะใช้เงินลงทุนระยะแรก 2,480.73 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี
นายสุริยะ กล่าวว่า จากการเดินทางเยี่ยมชมศูนย์การผลิตแหลมฉบัง ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งมีแผนจะผลิตรถมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริดที่ผลิตนอกญี่ปุ่นครั้งแรก คาดว่าจะเปิดตัวในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ล่าสุดมีกฏเกณฑ์บางอย่างที่เกี่ยวกับบีโอไอที่ทางมิตซูบิชิฯจะขอปรับเปลี่ยน ดังนั้นจะนำเสนอครม.ครั้งนี้เพื่อพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ทั้งนี้มิตซูบิชิฯ มองว่าปี 2564 ตลาดรถยนต์จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวจึงได้มีแผนลงทุนไว้ตั้งแต่ปี 2564 มูลค่า 20,000 ล้านบาท ทั้งโรงพ่นสี 7,500 ล้านบาท และโครงการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบอีก 1.3 หมื่นล้านบาท
นายสุริยะ กล่าวถึงความคืบหน้าการโครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ที่มีมูลค่าลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท ในพื้นที่ อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอีอีซี ว่า ล่าสุดบริษัทเอ็กซอนโมบิลได้แจ้งขอชะลอโครงการออกไปก่อนจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการพิจารณาพื้นที่ถมทะเลเพื่อเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนออกไปและให้มองหาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นพื้นที่อื่นที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยสุดเพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายแทน