รีเซต

ดร.เสรีชี้ “พายุวิภา” แรง เหนือตอนบน-อีสานตอนบน เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าหลาก

ดร.เสรีชี้ “พายุวิภา” แรง  เหนือตอนบน-อีสานตอนบน  เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าหลาก
TNN ช่อง16
21 กรกฎาคม 2568 ( 11:30 )
15

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ภายใต้การนำของนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลกระทบจากพายุ “วิภา” ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ของประเทศไทยระหว่างวันที่ 22-24 กรกฎาคมนี้

โดยที่ประชุมมีมติให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแจ้งเตือนประชาชนใน 22 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยผ่านระบบ Cell Broadcast ในเวลา 17.55 น. เป็นการแจ้งข่าวเตือนภัยล่วงหน้าให้ประชาชนได้เตรียมรับมือ

จากการติดตามเส้นทางพายุ พบว่า “วิภา” มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่ตอนบนของประเทศเวียดนามบริเวณจังหวัดไทบื่ญ (ห่างจากกรุงฮานอยทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร) ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ โดยจะยังคงเป็นพายุโซนร้อนรุนแรง ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำ เคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือของไทย บริเวณจังหวัดน่านและเชียงราย


พายุ “วิภา” จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 22–24 กรกฎาคม ปริมาณน้ำฝนอาจสูงถึง 100–300 มิลลิเมตร พร้อมลมกระโชกแรง เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยมีความรุนแรงของฝนระดับ 0.5–0.9 (ตามค่าดัชนีสีเหลืองถึงส้ม) เสี่ยงต่อการเกิดน้ำไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่

จากการประเมินโดย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อภัยน้ำท่วมในภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ น่าน เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก เลย บึงกาฬ และหนองคาย

โดยในแผนที่ความละเอียด 300 เมตร พื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะปรากฏเป็น “แถบสีน้ำเงิน” ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวควรติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด และประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อรับทราบระดับน้ำ ขอบเขตพื้นที่เสี่ยง และเตรียมแผนรับมือ

ทั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้จัดตั้ง “War Room” ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมด้วยทีมงานและอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเตรียมเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเสี่ยงอื่น ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์แบบเรียลไทม์

สถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนตามเส้นทางของพายุ “วิภา” จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 22–24 กรกฎาคมนี้.



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง