รีเซต

ข่าวนี้จริงไหม?... ควันบุหรี่มือ 2 ทำเส้นเสียงอักเสบ

ข่าวนี้จริงไหม?... ควันบุหรี่มือ 2 ทำเส้นเสียงอักเสบ
TNN ช่อง16
20 สิงหาคม 2566 ( 10:03 )
178

นพ.ศุภกฤต ลิ้มพรภักดี อาจารย์ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เปิดเผยกับทีมข่าว tnnthailand ว่าเป็นความจริงที่ "ควันบุหรี่มือ 2 เป็นสาเหตุทำให้เส้นเสียง หรือ สายเสียง อักเสบได้" เนื่องจากควันบุหรี่มีสารเคมีที่จะเข้าไปกระตุ้นทำให้เส้นเสียงอักเสบ เวลาที่ร่างกายสูดดมควันบุหรี่เข้าไปจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ลงไปที่ลำคอไปยังกล่องเสียงที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ผ่านเข้าสู่หลอดลมไปที่ปอด ซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนล่าง และจะทำให้เกิดอาการไอ หากผู้ได้รับควันบุหรี่มีอาการไอหนัก จะส่งผลกระทบให้เส้นเสียงทำงานหนักจนเกิดอาการอักเสบ ทำให้เกิดภาวะเสียงแหบและเสียงหายตามมา ถ้าผู้ป่วยได้รับควันบุหรี่มือ 2 เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดภาวะเส้นเสียงอักเสบเรื้อรัง โดยควันบุหรี่มีสารเคมี ถึง 7,000 ชนิด และสารก่อมะเร็งมากกว่า 70 ชนิด ซึ่งสารก่อมะเร็งที่อยู่ในควันบุหรี่ ทั้ง ไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็ง ปัจจุบันพบว่าผู้ที่สัมผัสควันบุหรี่มือ 2 มีความเสี่ยงทำให้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 20-30% รวมถึงมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งกล่องเสียงและลำคอ 2-3% และเสี่ยงเป็นมะเร็งในระบบอื่น ๆ เช่น มะเร็งเต้านม  ผลสำรวจที่น่าสนใจในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2550-2554 พบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มีสาเหตุจากการสัมผัสควันบุหรี่ถึง 11% และจากผลสำรวจของโรงพยาบาลกรุงเทพ ปี 2554 พบว่าผู้หญิงที่ป่วยมะเร็งปอด เป็นผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่รับพิษจากบุหรี่มือ 2 ถึง 28.3%



นพ.ศุภกฤต กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากมลพิษจากควันบุหรี่ ยังมีมลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองในอากาศ, สารเคมีในสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการระคายเคือง ในทางเดินหายใจและอาจทำให้เส้นเสียงอักเสบได้เช่นกัน 





นอกจากนี้ นพ.ศุภกฤต ได้ให้คำแนะนำเมื่อผู้ป่วยมีอาการเส้นเสียงอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงมลภาวะที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นควัน, ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่นละอองในอากาศ, สารเคมี, ควันบุหรี่ และผู้ที่มีอาการเสียงแหบหรือเสียงหาย ควรงดการใช้เสียงโดยไม่จำเป็น สามารถพูดในโทนเสียงปกติได้ แต่ไม่ควรตะโกนหรือกระซิบ รวมถึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน หากมีภาวะเส้นเสียงอักเสบเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป






ผู้เขียนข่าว

เรียบเรียงโดย : ธัญญาพร สุวรรณรัตน์

ผู้สื่อข่าว คอลัมน์ ข่าวนี้จริงไหม?

 

 

ที่มาภาพนิ่ง


ช่างภาพ TNN, ภาพจาก IG นนท์ ธนนท์ , ซาร่าห์ Salola และ โบกี้ ไลอ้อน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง