รีเซต

สธ.ปรับแผนวัคซีนเร็วขึ้น 'หมอยง' ชี้สายพันธุ์อินเดียมาแรง เร่งฉีดแอสตร้าเข็ม 2-ซิโนแวคโดส 3 รับมือ

สธ.ปรับแผนวัคซีนเร็วขึ้น 'หมอยง' ชี้สายพันธุ์อินเดียมาแรง เร่งฉีดแอสตร้าเข็ม 2-ซิโนแวคโดส 3 รับมือ
มติชน
23 มิถุนายน 2564 ( 07:14 )
66
สธ.ปรับแผนวัคซีนเร็วขึ้น 'หมอยง' ชี้สายพันธุ์อินเดียมาแรง เร่งฉีดแอสตร้าเข็ม 2-ซิโนแวคโดส 3 รับมือ

สธ.ปรับแผนวัคซีนเร็วขึ้น ขณะที่’หมอยง’ ชี้สายพันธุ์อินเดียมาแรง เร่งฉีดแอสตร้าเข็ม 2-ซิโนแวคโดส 3 รับมือ ห่วงเตียงโคม่ากทม.เหลือ20เตียง

 

 

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.จัดสรรวัคซีนกระจายไปยังพื้นที่แล้ว 8.5 ล้านโดส ตามแผนที่ ศบค.กำหนด ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ฉีดวัคซีนแล้ว 7,906,696 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 5,678,848 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 2,227,848 โดส ในจำนวนนี้เป็นวัคซีนซิโนแวค 5,550,891 โดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2,355,805 โดส

 


นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับวัคซีนแอสตร้าฯ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน กำหนดระยะห่างการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ สามารถขยายได้ถึง 16 สัปดาห์ โดยมอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. บริหารจัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม

 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์ฯ พบว่า สายพันธุ์เดลต้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงเห็นชอบให้พื้นที่ที่มีการระบาดสามารถปรับระยะเวลาการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้นจากปกติที่นัดห่างจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์เป็น 8 สัปดาห์

 

 

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดีย แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษประมาณ 1.4 เท่า จึงไม่แปลกที่สายพันธุ์เดลต้าจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลต้าจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทั่วโลก ในอนาคตอาจจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น โดยวัฏจักรแล้วจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน มีการศึกษาในสกอตแลนด์ ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัวลดลง โดยไฟเซอร์จากเดิมป้องกันได้ ร้อยละ 90 เหลือร้อยละ 79 ส่วน แอสตร้าฯ ลดจากเดิมร้อยละ 80-90 เหลือ ร้อยละ 60 ดังนั้น ในไทยจะต้องชะลอการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าให้มากที่สุด และปรับแผนการฉีดวัคซีน เช่น ฉีดแอสตร้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้น หรือซิโนแวค ที่ฉีด 2 เข็มแล้วภูมิยังต่ำ ถ้ากระตุ้นเข็มที่ 3 เข้าไปก็เชื่อว่าจะทำให้ภูมิต้านทานสูงเป็นน้องๆ ไฟเซอร์ ขณะนี้กำลังศึกษาการให้เข็ม 3 ว่าจะให้ที่ 3 เดือนหรือ 6 เดือน รวมถึงการให้ชนิดเดิมหรือต่างชนิด หรือข้ามไปหาวัคซีนตัวใหม่ คือชนิด mRNA เลย

 

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตกทม. และปริมณฑล ที่มีผู้ป่วยใหม่มากกว่า 1,000 รายต่อวันต่อเนื่องกว่า 2 เดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดง หรือกลุ่มที่มีอาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง ที่มีอาการปานกลาง ทำให้มีความต้องการเตียงในกลุ่มนี้สูงขึ้น พบว่า ขณะนี้จำนวนเตียงในสถานพยาบาลภาครัฐ ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง มีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 409 ราย เหลือเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดสีแดงเพียง 20 เตียงเท่านั้น ซึ่งต้องเก็บไว้รองรับผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะฉุกเฉิน หรือต้องผ่าตัดหรือเหลือเร่งด่วน ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองมีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 3,937 ราย เหลือเตียงรองรับผู้ป่วยกลุ่ม สีเหลืองอีกประมาณ 300 เตียงเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง