โฆษก กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ไม่เห็นด้วย หากให้ ตปท.ถ่ายหนังขี่เจ็ตสกีหน้าไร่เลย์ จ่อนำหารือในสภา
‘ประเสริฐพงษ์’ โฆษก กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค สภา ไม่เห็นด้วย หากมีการยกเว้นให้ถ่ายหนัง MEG 2 ฉาก ขับเจ็ตสกีที่อ่าวไร่เลย์ กระบี่
จากกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่มีหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง การพิจารณาการเตรียมการถ่ายทำภาพยนตร์ใน จ.กระบี่ ถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The MEG 2 ที่ไร่เลย์ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของกระบี่ โดยมีเนื้อหาสรุปว่า จ.กระบี่ ขอเรียนให้ทราบว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดกระบี่ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบการถ่ายทำภาพยนตร์ The MEG 2 ในพื้นที่ จ.กระบี่ โดยให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่ อ.อ่าวลึก อ.เมืองกระบี่ อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม และ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ พ.ศ.2559 ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2564 และไม่ขัดต่อปฏิญญาการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ สู่ความยั่งยืน แต่มีรายงานว่า ในที่ประชุม กรอ.มีการลงมติว่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นชาว จ.กระบี่ กล่าวว่า หลังจากทราบข่าว ว่ากองถ่ายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้รับอนุญาตจากฟิล์มบอร์ดแล้ว แต่อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องขั้นตอนขออนุญาตถ่ายทำในพื้นที่กับหน่วยงานผู้รับผิดชอบ มีความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกรณีกองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศ อาศัยอำนาจจากรัฐบาลกลางเพื่อได้รับอนุญาตแล้วจะมาบีบบังคับให้จังหวัดและประชาชนในท้องถิ่นยอมรับในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ชนิดที่ว่าจะทำอะไร เปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ในพื้นที่ จ.กระบี่ โดยจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในกองถ่าย สร้างสิ่งปลูกสร้าง ประกอบฉากต่างๆ เช่น รีสอร์ต ที่พัก ท่าเทียบชั่วคราว มีการปรับแต่งสถานที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายหาด อ่าวไร่เลย์ อ่าวต้นไทร ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ซึ่งพื้นที่ชายหาดเป็นพื้นที่เปราะบาง
นายประเสริฐพงษ์กล่าวว่า กรณีเช่นนี้ที่ผ่านมาได้เกิดขึ้นที่อ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี ในการสร้าภาพยนตร์เรื่องเดอะบีช มีการนำเครื่องจักรหนัก รถแบ๊กโฮ รถไถ รถบรรทุกมาปรับพื้นที่ชายหาด นำทรายมาถมขุดสันทรายเดิมออก นำต้นมะพร้าวไปปลูกแทนป่าไม้ประจำถิ่นเดิม สร้างความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก จนนำไปสู่การฟ้องร้องกับบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ผ่านมากว่า 20 ปี ขณะนี้ เรื่องยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม จึงตั้งขอสังเกตว่าบริษัทเอกชนผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง The MEG 2 ในพื้นที่ จ.กระบี่ ได้รับอภิสิทธิ์อะไรที่จะให้มีการยกเว้นปฏิญญาการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จ.กระบี่ ที่ภาครัฐและภาคเอกชนคนกระบี่ช่วยกันร่าง เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่กระทำการ หรือกิจกรรมใดที่ส่งผลเสีย เหมือนเป็นกฎสังคมที่มาจากการประชาคมของคนพื้นที่ยึดถือเป็นแนวทางว่าอะไรควรไม่ควรทำในกระบี่ที่ปฏิบัติกันมากว่า 25 ปี ห้ามเจ็ตสกี ร่มชายหาด เรือสกู๊ตเตอร์ เรือลากร่ม เรือลากกล้วย เป็นข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอต่อ กรอ.กระบี่ และเป็นมติที่ประชุม ไม่ได้เป็นกฎหมายแต่ประการ แต่กระบี่ก็เข้มงวดในเรื่องกิจกรรมเหล่านี้มาโดยตลอด เราเคารพกติกา
นายประเสริฐพงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จ.กระบี่ พ.ศ.2559 และกรณีมีการปิดชายหาดอ่าวไร่เลย์ บริเวณหาดถ้ำพระนาง เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน ซึ่งเป็นชายหาดที่มีความสวยงาม แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อน ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการนำเที่ยวเป็นอย่างมาก และไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่อ่าวไรย์เลย์เป็นพื้นที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ขอให้บริษัทสร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศอย่ามาอ้างว่าเป็นบุญคุณว่า เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามของกระบี่ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ต้องเคารพสิทธิของชาวกระบี่ด้วย จึงเตรียมประเด็นนี้เข้าหารือในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
ด้าน น.ส.จรรยารักษ์ สาธิตกิจ ท่องเที่ยวและกีฬา จ.กระบี่ กล่าวว่า ประเด็นไฮไลต์ของเรื่องนี้คือการใช้เจ็ตสกีในฉากพระเอกสู้กับฉลาม บริเวณชายหาดหน้าถ้ำพระนาง อ่าวไร่เลย์ ซึ่งตามกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม และกฎสังคมของกระบี่คือห้ามเรื่องเจ็ตสกีในน่านน้ำกระบี่ แต่กองถ่ายก็ยังยืนยันที่จะต้องมีฉากนี้ ดังนั้น จะได้ถ่ายหรือไม่ ตามนัยของหนังสือจังหวัดกระบี่คือไปขออนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายก่อน เพราะหากยึดตามกฎสังคมของกระบี่คือห้ามเจ็ตสกีในน่านน้ำกระบี่
“ถ้า 2 ฝ่ายยังหาข้อตกลงเรื่องนี้ไม่ได้ ก็จะเป็นอุปสรรคของกองถ่ายหนัง เพราะจะลงทุนสร้างฉากแล้ว เมื่อถึงเวลาถ่ายจริงจะไม่สามารถดำเนินการได้” น.ส.จรรยารักษ์กล่าว