รีเซต

เลือกตั้งเมียนมา : จากเผด็จการทหารสู่รัฐบาล “ขิงแก่” ของ ออง ซาน ซู จี

เลือกตั้งเมียนมา : จากเผด็จการทหารสู่รัฐบาล “ขิงแก่” ของ ออง ซาน ซู จี
ข่าวสด
4 ตุลาคม 2563 ( 15:53 )
124

เลือกตั้งเมียนมา : จากเผด็จการทหารสู่รัฐบาล “ขิงแก่” ของ ออง ซาน ซู จี - BBCไทย

โดย ดร. ลลิตา หาญวงษ์

อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาจะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.นี้ นักวิจารณ์มองว่า จะเป็นการวัดความนิยมในตัวอดีตนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ออง ซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของเธอ ท่ามกลางปัญหาการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ หลังจากที่คว้าชัยท่วมท้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

 

"แทบจะไร้วิสัยทัศน์แห่งอนาคตจากทุกฝักฝ่ายการเมืองของเมียนมา" คือ บทสรุป ที่ ดร. ตั้น เมี่ยน-อู (Thant Myint-U) อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติ และอดีตที่ปรึกษาของ พล.อ. เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาปี 2011-2016 สรุปถึงสภาวะของประเทศ ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา The Hidden History of Burma: Race, Capitalism and the Crisis of Democracy in the 21st Century

 

Reuters

ตั้น เมี่ยน-อู เกิดในนครนิวยอร์ก เป็นหลานตาของอู ถั่น (U Thant) อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ชาวเมียนมา ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1961-1971 เขาเปรียบเทียบประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของพ่อแม่ของเขาว่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า เป็น "ชาติที่ยังสร้างไม่เสร็จ" เต็มไปด้วยปัญหาเรื้อรัง เต็มไปด้วยนักการเมืองชาตินิยมที่มีแต่ความหวังดีต่อชาติ แต่ไม่มีแผนการทำงานต่อเนื่อง ทำให้การปกครองของรัฐบาลเมียนมา ตั้งแต่ในยุคเผด็จการทหาร ในปัจจุบัน ไม่เคยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชนจริง ๆ

 

แม้เกิดในสหรัฐฯ แต่ใกล้ชิดกับชนชั้นสูงและนักการเมืองทั้งในและนอกเมียนมา ตั้น เมี่ยน-อู ชี้ให้เราเห็นแผลที่เหวอะหวะภายในรัฐบาลและกองทัพเมียนมา และยังสรุปไว้ว่าตรงกลางปัญหาทุกอย่างในเมียนมา คือการขาดความสามารถที่จะวิเคราะห์และจินตนาการถึงอนาคตที่แตกต่าง ความคิดพัฒนาหลายอย่าง "พลัดหายเข้าไปในห้วงเหวของระบบราชการ" เพราะนักการเมืองที่นั่งอยู่ในฝ่ายบริหารในปัจจุบันไม่ใช่ผู้บริหารมืออาชีพ เนื่องจากเกือบทั้งหมดเคยเป็นนักโทษการเมือง ที่ถูกคุมขังยาวนานหลายปี

 

ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีชื่อไทยว่า "ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด" แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส ระบุว่า ขณะที่รัฐบาลเมียนมาเผชิญปัญหามากมายและพยายามแก้ไข แต่ไม่มีใครในรัฐบาลพูดถึงความล้มเหลวของทุนนิยมในประเทศในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีใครสนับสนุนการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมและเท่าเทียม ไม่มีใครพูดถึงปัญหาหนี้สินของคนจน และยิ่งไม่เคยมีการอภิปรายกันเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการ หรือการสร้างสังคมที่เป็นธรรม

 

เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะสังคมเมียนมาเองก็เริ่มไม่เชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาปากท้องของเขาได้อีกต่อไป หรืออาจเชื่อไปแล้วว่าการเปิดประเทศเป็นเหมือนการ "ชักศึกเข้าบ้าน" ที่ทำให้เมียนมากลายเป็นที่สนใจในเชิงลบ และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

เน วิน กับ 20 ปี ของเศรษฐกิจที่ล้มเหลว

ย้อนไปตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารของนายพล เน วิน เมียนมาปิดประเทศและกลายเป็น "ฤาษีแห่งเอเชีย" ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจตลอดทศวรรษ 1960-1980 ทำให้เมียนมากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ประชาชนถูกปิดกั้นเสรีภาพในทุกมิติ ในขณะเดียวกัน สงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ก็เลวร้ายลง และไม่มีใครรู้ว่าสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในโลกนี้จะจบลงอย่างไร

 

Getty Images
นายพล เน วิน

แม้เมียนมาได้เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปทางการเมืองและการปรองดองมาตั้งแต่ปี 2010 มาจนถึงยุครัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของพรรค NLD ในปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคการพัฒนาประเทศเป็นประเด็นใหญ่ ที่ครอบคลุมความขัดแย้งสลับซับซ้อนหลายระดับ ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้ผ่านความขัดแย้งในปัจจุบัน เพียงอย่างเดียวได้ แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนมีที่มา และเป็นเหมือนอัตลักษณ์ที่อยู่คู่กับสังคมเมียนมามาหลายสิบปี

 

ตั้น เมี่ยน-อู พาเราย้อนกลับไปถึงยุคอาณานิคม ซึ่งเขามองว่าเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงในสังคมเมียนมา ที่มีลักษณะเป็นสังคมแบบพหุลักษณ์ (plural society) เมื่อเมียนมาได้รับเอกราช ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติเริ่มบังเกิด ด้วยความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อคติทางชาติพันธุ์ ความคลั่งชาติ และการโหมกระพือของข่าวลือ หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า "เฟคนิวส์" ปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายกองทัพยุคใหม่ และผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างพวกพ้องคนในกองทัพ ผู้นำชนกลุ่มน้อย นักธุรกิจ และประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน

 

เมื่อเมียนมาปฏิรูป

"รัฐพม่า" เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในยุคที่อังกฤษปกครอง กลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม สถานะของชาวพม่าแทบไม่ต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ แต่เมื่อพม่าได้รับเอกราชในปี 1948 ปัญหาด้านเชื้อชาติเริ่มมีให้เห็นชัดขึ้นตามลำดับในรัฐพม่ายุคใหม่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์พม่าเป็นผู้นำ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติเป็นปัญหาที่สำคัญสูงสุดของประเทศมาโดยตลอด กองทัพภายใต้การนำของเน วินใช้ข้ออ้างเรื่องความไม่เป็นเอกภาพนี้รัฐประหารรัฐบาลของอู นุในปี 1962 และปกครองประเทศต่อมาอีก 26 ปี ในปี 1988 เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ หรือที่รู้จักในนามเหตุการณ์ประท้วง "8888" เน วินประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาล ระบอบสังคมนิยมวิถีพม่าสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี รัฐบาลที่เข้ามารับไม้ต่อจากเน วิน และ BSPP (Burmese Socialist Programme Party) ของเขายังคงเป็นรัฐบาลทหาร ที่ใช้ชื่อว่าสลอร์ก (SLORC: State Law and Order Restoration Council) ตามมาด้วยการเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก พม่า (Burma) เป็น เมียนมา (Myanmar)

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลัง 1988 ไม่ใช่การมุ่งหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หากแต่เป็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากนายทหารสายอนุรักษ์นิยมกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ถึงกระนั้น ท่าทีของสลอร์กทำให้ประชาชนใจชื้นขึ้น เพราะรัฐบาลมีนโยบายเข้าหาโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา มากขึ้น ให้เสรีภาพกับภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ยอมให้มีการลงทุนจากต่างชาติ และยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกจำนวนหนึ่ง แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพเกิดขึ้นบ้าง แต่จิตวิญญาณของกองทัพ และคณะผู้บริหารในรัฐบาลของสลอร์ก (แล้วเปลี่ยนมาเป็น State Peace and Development Council หรือ SPDC หลัง 1997) ยังคงเป็นการ"ฟื้นฟูลัทธิชาตินิยมที่รวมศูนย์อยู่กับแก่นแกนวัฒนธรรมและชาติพันธุ์พม่าที่นับถือพุทธ" ตามความเห็นของ ตั้น เมี่ยน-อู

 

AFP
ตาน ฉ่วย

ในปี 1992 ตาน ฉ่วย (Than Shwe) ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมเข้ารับตำแหน่งประธาน SPDC และนายกรัฐมนตรีเมียนมา เขามีพื้นฐานจากหน่วยสงครามจิตวิทยา เคยเข้ารับการอบรวมหลักสูตรพิเศษจากองทัพโซเวียต และเป็นนายทหารที่เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการทางจิตวิทยาประจำกรมกองต่าง ๆ ในสังกัดกองทัพ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในอาระกัน เมื่อองค์การสมานฉันท์โรฮิงญา (RSO: Rohingya Solidarity Organisation) เริ่มปฏิบัติการก่อจลาจล และการเปิดฉากโจมตี RSO ของกองทัพเมียนมาทำให้ชาวมุสลิมจากอาระกันต้องหลบหนีออกไปฝั่งบังคลาเทศกว่า 200,000 คน เมื่อความขัดแย้งเริ่มลดลง ตาน ฉ่วยยอมให้องค์การสหประชาชาติส่งผู้อพยพชาวโรฮิงญากลับมา แต่ในขณะเดียวกันกองทัพเมียนมาก็ขยายใหญ่ขึ้นมาก จากเดิมที่มีทหารราว 1.5 แสนนายในปลายทศวรรษ 1980 เป็น 3 แสนนาย หลังตาน ฉ่วยขึ้นมามีอำนาจไม่นาน

 

การสร้างผีที่ชื่อ "โรฮิงญา"

ผู้เขียนระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล-กองทัพเมียนมา กับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มลดลงเพราะผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างเอื้อให้กันด้วยความเต็มใจ แต่ยังมีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์บางประเภทที่ไม่สามารถหาทางลงได้โดยง่าย กองทัพและสถาบันการเมืองอื่น ๆ ในประเทศ มีลักษณะอนุรักษ์นิยมแบบสุดขั้ว ความสนใจของพวกเขาอยู่ที่การรักษาอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ การรักษาสถานภาพปัจจุบันของกองทัพ และการเชิดชูบทบาทนำของชาวพุทธเท่านั้น

 

ในปี 1990 รัฐบาลสลอร์กเริ่มกล่าวถึง "ชาติพันธุ์ 135 กลุ่ม" หรือ "ไตยินตา" ที่ถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเมียนมา อย่างไรก็ดี รายชื่อเหล่านี้เป็นการจับแพะชนแกะ และเป็นการจับกลุ่มที่ล้าสมัยสุดขั้ว เพราะผู้คนหลากหลายกลุ่มในเมียนมาล้วนผสมกลมกลืนเขาสู่สังคม ผู้คนจำนวนมากใช้ภาษาเมียนมาและแต่งงานกับชาวเมียนมาไปแล้ว แนวความคิดเรื่องเผ่าพันธุ์เป็นแนวคิดในต้นศตวรรษที่ 20 ว่าด้วยอัตลักษณ์และรูปลักษณ์ ในปัจจุบัน ชาวเมียนมาส่วนใหญ่มองว่าชาวมุสลิมในอาระกันเหนือ หรือ "โรฮิงญา" ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ "ไตยินตา" ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงไม่ควรมีสิทธิมีเขตปกครองของตนเอง คนเมียนมาเกรงว่าหากปล่อยให้โรฮิงญาปกครองตนเอง ก็จะนำไปสู่การได้รับสิทธิมีเขตปกครองของตนเอง และการนำกฎหมายชารีอะฮ์มาใช้ ดังนั้นคนเมียนมาจึงเรียกโรฮิงญาว่า "เบงกาลี" เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างทั้งทางสายเลือดและวัฒนธรรม กับทั้งรูปร่างหน้าตาที่ผูกอยู่กับ "กะลา" หรือแขกอินเดีย มากกว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบชาวพม่า และยังพยายามสร้างวาทกรรมว่าชาวโรฮิงญาล้วนเป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่ มากกว่าคนพื้นถิ่นที่สมควรได้รับสิทธิคุ้มครองพิเศษ

 

ในขณะที่ชาวกะมาน หรือชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งในอาระกัน เป็นส่วนหนึ่งของ "ไตยินตา" ชาวโรฮิงญากลับถูกผลักไสออกไปไกลขึ้น ๆ เพราะพวกเขานับถือศาสนาที่คนเมียนมาถือว่าเป็นศาสนาอันตราย ความเกลียดชังชาวโรฮิงญามีเพิ่มมากขึ้นหลังเหตุการณ์การทำลายพระพุทธรูปที่บามิยันในอัฟกานิสถาน กลายเป็นการจลาจลทางเชื้อชาติ ที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย

 

เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นในอาระกันในปี 2012 ชาวเมียนมาจำนวนมากเชื่อว่า "ญาติพี่น้อง" ของตนถูกพวก "กะลา" เข่นฆ่าอย่างทารุณ เพิ่มความรู้สึกว่าคนมุสลิมในอาระกันเหนือเป็นคนต่างด้าวและเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและ "เผ่าพันธุ์" นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียวอย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศ ยังโหมกระพือเชื้อไฟแห่งความเกลียดชัง และข่าวปลอมอย่างรวดเร็ว ในวันที่ 14 ก.ค. 2014 มีโพสต์หนึ่งในเฟซบุ๊กอ้างว่าชาวอินเดียมุสลิมเจ้าของน้ำชา Sun Teashop ในมัณฑะเลย์ข่มขืนลูกจ้างหญิงของตน ฝูงชนที่โกรธแค้นบุกไปถึงร้าน เป็นม็อบขนาดย่อม และบุกทำลายเคหะสถานของชาวมุสลิมในเมือง ซึ่งอยู่ร่วมกับคนพุทธมาหลายชั่วคน

 

ก่อนปี 2010-2012 คนในเมียนมาไม่ได้ตระหนักถึงการมีอยู่ของคน "โรฮิงญา" เลย แต่เมื่อเหตุการณ์การจลาจลในปี 2012 ขึ้น ความเห็นใจของคนเมียนมาก็เทไปที่คนพุทธ ความโกรธแค้นพุ่งเป้าไปที่คนมุสลิมในอาระกันเหนือที่ถูกมองว่าเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย คนเมียนมาเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "เบงกาลี" และมองว่าการเรียกว่า "โรฮิงญา" เหมือนเป็นทฤษฎีสมคมคิดของต่างชาติ

 

รัฐบาลผู้เฒ่าในประเทศชรา

ปัญหาและอุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้นในเมียนมายังมีที่มาจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ก่อนพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และเข้ามาเป็นรัฐบาลในปี 2016 ก่อนการเลือกตั้งมีเสียงก่นด่ากองทัพให้เราได้ยินไม่ขาดสายว่าเป็นต้นเหตุของหายนะทางเศรษฐกิจ และเป็นสาเหตุให้ประเทศย่ำอยู่กับที่ ไม่สามารถพัฒนาด้านใด ๆ ต่อไปได้

 

ชัยชนะของ NLD และการขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ในฐานะ "ที่ปรึกษาแห่งรัฐ" (State Counsellor) และตำแหน่งรัฐมนตรีในอีกหลายกระทรวงของออง ซาน ซู จีสร้างความหวังให้กับชาวเมียนมาส่วนใหญ่ ที่ต่างต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมที่สุดนับตั้งแต่ปี 1960 ในเวลานั้น ออง ซาน ซู จี อายุ 71 ปี และรัฐมนตรีในรัฐบาลของเธอทั้ง 21 คนก็เป็นผู้ชายทั้งหมด ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 65 ปี และไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการบริหาร

 

AFP

ข้อจำกัดของรัฐบาลภายใต้การนำของออง ซาน ซู จี คือเต็มไปด้วยนักการเมืองสมัครเล่นสูงอายุ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง แต่ละคนไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักโทษการเมือง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ทุกคนล้วนเป็นที่ไว้วางใจสำหรับออง ซาน ซู จี สำหรับคนทั่วไป ออง ซาน ซู จีมีสถานะแทบไม่ต่างจากนัต (nat หรือผีแบบพม่า) ตนหนึ่ง เธอเปรียบเสมือนบุคคลที่แตะต้องไม่ได้ บูชากราบไหว้ได้เพียงอย่างเดียว คนเมียนมาแทบทุกคนมีความรักและเคารพเธอมากกว่าสิ่งอื่นใด ด้วยความเกรงใจที่เคยต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนมาตลอด โดยไม่สนใจว่าแท้จริงแล้ว ออง ซาน ซู จีเองนั่นแหล่ะที่อาจเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศ

 

แม้เป็นรัฐบาลที่เชื่องช้า แต่รัฐบาล NLD ก็เป็นรัฐบาลพลเรือนอันเป็นผลผลิตจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุดในรอบ 50 ปี ตั้งแต่ออง ซาน ซู จีเข้ามารับตำแหน่ง เราเห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สัมผัสได้จริง อุตสาหกรรมสิ่งทอเจริญเติบโต เราเริ่มเห็นเสื้อผ้า Made in Myanmar ในร้านแบรนด์ดังระดับโลกมากขึ้น ปริมาณการส่งออกข้าวไปจีนก็สูงขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในภาคชนบทเริ่มดีขึ้น เงินจำนวนมากที่หล่อเลี้ยงภาคชนบทยังมาจากแรงงานอพยพหลายล้านคนในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่เมียนมายังจะต้องเผชิญต่อไปคือความบอบบางของสถานการณ์ทางการเมือง และความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ยังคงมีอยู่ ปัจจัยเหล่านี้กระทบเศรษฐกิจระดับมหภาค และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศอย่างแน่นอน

 

Reuters

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลพม่าหมายถึงออง ซาน ซู จี และเธอเป็นจุดสนใจเดียวภายในรัฐบาลเธอครองพื้นที่สื่อของรัฐแทบทั้งหมด มีใครสักกี่คนที่จำได้ว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันมีชื่อเสียงเรียงนามว่าอย่างไร

 

ในด้านการทำงาน ตั้น เมี่ยน-อู ชี้ให้เราเห็นว่าออง ซาน ซู จีชื่นชอบการทำงานแบบที่ตนเป็น "อำนาจรวมศูนย์" ข้อราชการทั้งหมดที่ไม่ใช่ด้านการทหาร ตั้งแต่เรื่องงบประมาณรัฐบาลไปจนถึงเรื่องสาธารณสุข การศึกษา และนโยบายต่างประเทศ อยู่ในความดูแลของเธอทั้งสิ้น

 

จากข้อมูลของผู้เขียน เรายังทราบว่าเธอไม่ชอบระบบที่ปรึกษาและกลุ่มคลังสมองที่เคยแวดล้อมอดีตประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เช่น Myanmar Egress องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลเต็ง เส่งมานาน และเธอยังไม่ชอบศูนย์กลางสันติภาพเมียนมา (Myanmar Peace Center) เพียงเพราะองค์กรเหล่านี้ไม่มีคนของเธอเข้าไปนั่ง และเธอไม่สามารถควบคุมได้โดยง่าย

 

วิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ของโลก

นับตั้งแต่ปี 2017 หน้าของออง ซาน ซู จีปรากฎในสื่อนานาชาติอีกครั้งในปี 2017 เมื่อกลุ่มติดอาวุธที่ใช้ชื่อว่า ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) เปิดฉากโจมตีด่านตำรวจ 3 แห่งในอาระกันเหนือ และปล้นสะดมหมู่บ้านของทั้งชาวพุทธ ฮินดู และมโร เป็นเหตุให้มีตำรวจเสียชีวิต 9 นาย และมีประชาชนเสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่ง กองทัพตอบโต้โดยใช้ปฏิบัติการกวาดล้างเพื่อปราบกบฏครั้งแรกตั้งแต่ปี 1947 และโจมตีหมู่บ้านโรฮิงญาแบบไม่เลือกหน้า

 

Getty Images

การโจมตีทั่วอาระกันเหนือยังทำให้มีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตหลายร้อยหรืออาจจะหลายพันคน ถึงปลายปี 2017 มีผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเข้าไปในบังคลาเทศมากกว่า 7 แสนคน และในปัจจุบันมีมากกว่า 1 ล้านคน องค์การสหประชาชาติยกให้เป็นเป็นการอพยพของผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่สุดในโลกยุคใหม่ ออง ซาน ซู จีออกมาแก้ต่างแทนกองทัพ โดยอ้างว่าไม่มีปฏิบัติการทางทหารใด ๆ เกิดขึ้น และประชาชนมุสลิมในอาระกันไม่ได้หนีออกนอกประเทศแต่อย่างใด เหตุการณ์นี้สำหรับเธอ "ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด" แทนที่จะมีการเรียกร้องให้ออง ซาน ซู จีออกมาแถลงข้อเท็จจริง แต่สังคมเมียนมาที่กำลังคลุ้มคลั่งด้วยความเคียดแค้น ARSA และชาวโรฮิงญาทั้งหมด กลับออกมาโจมตีโลกตะวันตก ถึงกับมีการอนุมานกันว่าการกระทำของ ARSA เป็นส่วนหนึ่งของ "อุบายซาอุดิ-ตะวันตกเพื่อสั่นคลอนอาระกันและบีบบังคับประเทศให้ยอมรับผู้มาตั้งถิ่นฐานรุ่นใหม่"

 

มุ่งหน้าสู่การปรองดองแห่งชาติ ?

Reuters
ผู้สนับสนุนพรรค NLD

เมื่อเข้ารับตำแหน่งในปี 2017 นโยบายเร่งด่วนของพรรค NLD คือการแก้รัฐธรรมนูญ และการมุ่งหน้าสู่การปรองดองแห่งชาติ รัฐบาลตั้งกรอบการเจรจา "ปางหลวงศตวรรษที่ 21" ขึ้น เพื่อเพื่อประนีประนอมกับกลุ่มองค์การชาติพันธุ์ติดอาวุธมากมายในxitgmL จัดการยุบศูนย์กลางสันติภาพเมียนมา และตั้ง นพ.ติน เมี้ยว วิน (Tin Myo Win) แพทย์ประจำตัวของออง ซาน ซู จี มาเป็นหัวหน้าคณะเจรจา มีผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์หลายร้อยคนเข้าร่วมการประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ แต่กลับไม่มีผลลัพธ์ใดเป็นชิ้นเป็นอัน

 

รัฐบาล NLD มองไปที่เนื้อหาสาระหรือการสร้างยุทธศาสตร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่กลับไม่มีใครยอมรับความจริงว่าไม่ได้มีกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่เข้าร่วมการประชุมนี้ และยังไม่มีการกล่าวถึงประเด็นโรฮิงญาในอาระกันเหนือด้วย

การประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าทั้งหลายแทบไม่มีผล ปัญหาไม่อยู่ที่กระบวนการเท่านั้น แต่เป็นเพราะแนวคิดที่ว่ากลไกเดียวโดด ๆ สามารถจัดการปัญหาแตกต่างหากหลายได้ ตั้งแต่การต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติต่อชาติพันธุ์กลุ่มน้อยทั้งหลาย ไปจนถึงการกระจายอำนาจของรัฐบาล

 

ตลอดจนการยุติความขัดแย้งอันยาวนานระหว่างฝักฝ่ายต่าง ๆ ที่ติดอาวุธ ซึ่งบางฝ่ายพัวพันลึกซึ้งกับการค้าผิดกฎหมาย เมื่อกำไรจากการผลิตเมทแอมเฟตามีนพุ่งพรวด เงินทุนสำหรับกลุ่มติดอาวุธทั้งหลายก็ท่วมท้น

หลายคนรวมทั้งนักธุรกิจต่างชาติต่างแสดงความผิดหวังกับความไร้พลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รัฐบาลอ่อนแอไม่มีวาระทางเศรษฐกิจเป็นของตนเอง และติดกับดักระบบราชการที่เต็มไปด้วยข้าราชการอาวุโสที่เกาะติดกับอำนาจบริหารจัดการแบบยิบย่อยของพวกตน

 

ความเห็นทั้งหมด คือมุมมองของ ตั้น เมี่ยน-อู นักเขียน นักประวัติศาสตร์ และ ผูู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มองเข้ามายังประเทศของบรรพบุรูษของเขา แต่ผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พ.ย. ศกนี้ จะกำหนดว่า ประชาชนชาวเมียนมาจะไว้วางใจให้พรรค NLD และ ออง ซาน ซู จี บริหารประเทศต่อไปหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง