MICRO หั่นเป้าสินเชื่อใหม่ จับตารอดูนโยบายภาครัฐ
MICRO รับปรับลดเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่เหลือเฉลี่ย 100 ล้านบาท/เดือน เพื่อควบคุมคุณภาพลูกหนี้ให้อยู่ในระดับที่ดี ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และคงเป้าหมายรักษาระดับพอร์ตคงค้างไว้ที่ 4,900-5,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดเติบโตแตะ 5,500-5,800 ล้านบาท และยังคงคุมเข้ม NPL ให้ไม่เกินเกณฑ์ 4% จากครึ่งแรกปีที่ 4.55% จับตาดูนโยบายรัฐบาลชุดใหม่
นายกานต์ดนัย ชลสุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการด้านบัญชีและการเงิน บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการปรับลดการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อคงค้างปี 2566 ใหม่เป็นเหลือการรักษาระดับพอร์ตไว้ที่ประมาณ 4,700-5,000 ล้านบาท จากเดิมในช่วงต้นปีที่วางเป้าหมายไว้แตะที่ระดับ 5,500-5,800 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกที่ยังคงชะลอ
หั่นยอดสินเชื่อใหม่
ประกอบกับในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2566 ที่มองว่ากลุ่มเกษตรยังต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้ง ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลิตทางการเกษตรที่ลดลงและทำให้เงินในกระเป๋าลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทยังคงมุ่งเน้นในการรักษาฐานลูกค้าชั้นดีไว้อยู่ โดยจะเสนอสินเชื่อส่วนบุคคล (MFIN) ให้กับลูกค้าเพื่อให้มีกระแสเงินสดไปหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และยังคงคุมเข้มยอดการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายใหม่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ในอนาคต
ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 4,919.82 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19,049 สัญญา จากฐานลูกค้า จำนวน 17,580 ราย โดยสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อแบ่งออกเป็นรถบรรทุก 10 ล้อ และ 12 ล้อ 32.3%, รถบรรทุก 6 ล้อ 28.5%, รถหัวราก 15.9%, หางราก 6.3% รถบรรทุกประเภทอื่นๆ 1.3% และจักรยานยนต์ 15.7% โดยสินเชื่อรถบรรทุกให้ระดับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8-15% ขณะที่รถจักรยานยนต์ เฉลี่ยอยู่ที่ 11-12%
ทั้งนี้ ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 อาจอยู่ที่ระดับประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน จากในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่มียอดปล่อยสินเชื่อใหม่รวม 1,038 ล้านบาท ซึ่งต้องยอมรับว่าด้วยนโยบายการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อใหม่ของบริษัทเพื่อเพิ่มคุณภาพลูกหนี้ในปีนี้ อาจทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปีปรับตัวลดลงกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 2,800-3,000 ล้านบาท และยังคงเป้าหมายการรักษาระดับ NPL ให้อยู่ที่ไม่เกิน 4% จากในช่วงครึ่งแรกปีที่ระดับ 4.55%
จับตานโยบายรัฐ
ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ (MPLUS) ภายในปี 2566 คาดว่ายอดการปล่อยสินเชื่อใหม่จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 700-800 ล้านบาท ส่วนบริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด (MIB) ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต วางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้กับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อทั้งรถบรรทุกมือสอง และรถจักรยานยนต์ ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ยังคงมีแผนขยายการให้บริการประกันใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งเน้นในส่วนที่สามารถเข้ามาสนับสนุนฐานลูกค้าของกลุ่มธุรกิจหลักได้
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงมีหลายปัจจัยที่ยังคงต้องให้การจับตารอดู โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด และจะมาช่วยสนับสนุนภาคการเกษตร ภาคการก่อสร้าง และภาคการส่งออกได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นในปีนี้บริษัทจึงมุ่งเน้นในเรื่องของการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อใหม่และการคุมคุณภาพลูกหนี้ให้อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งหากว่าปัจจัยที่กล่าวมามีความชัดเจนมากขึ้นก็จะเริ่มวางแผนดำเนินงานในปี 2567 ต่อไป
"ภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังปี 66 มองว่ายังคงมีความท้าทายอยู่มาก ทั้งด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น พืชผลทางการเกษตรที่อาจลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวลดลง สะท้อนต่อการตั้งสำรองที่สูงขึ้น อีกทั้งมีลูกค้ารายหลายที่มีการคืนรถแม้ว่ามีการชำระค่างวดตรงเวลา ทำให้จำนวนรถยึดและสินทรัพย์รอการขายเพิ่มขึ้นมาแตะ 70-80 คัน/เดือน จากปกติเฉลี่ยที่ราว 30-40 คัน/เดือน"นายกานต์ดนัย กล่าว