รีเซต

“พายุสุริยะรุนแรง” กระทบโลก? “ดวงอาทิตย์” ปล่อยพลังงานมากขึ้น

“พายุสุริยะรุนแรง” กระทบโลก? “ดวงอาทิตย์” ปล่อยพลังงานมากขึ้น
TNN ช่อง16
4 มีนาคม 2567 ( 21:59 )
36

สัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องราวเกี่ยวกับ “ดวงอาทิตย์” และ “พายุสุริยะ” ถูกพูดถึงกันอีกครั้ง โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. (NARIT) ได้นำภาพถ่ายดวงอาทิตย์ ผ่านแผ่นกรองแสง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา  แสดงให้เห็นจุดบนดวงอาทิตย์ (sunspot) ขนาดใหญ่ บริเวณซีกเหนือของดาว รวมถึงจุดขนาดเล็กอีก 6-7 จุด ซึ่ง มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อย ๆ เตรียมเข้าสู่ช่วง “Solar Maximum” ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป



นายธนกร อังค์วัฒนะ เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อธิบายว่า ดวงอาทิตย์มีการปลดปล่อยพลังงานที่แตกต่างกันในแต่ละช่วง  บางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานมาก และบางช่วงมีการปลดปล่อยพลังงานที่น้อย เกิดเป็นวัฏจักรที่มีคาบ ประมาณ 11-12 ปี เรียกว่า “วัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle)” กล่าวคือ เป็นวัฏจักรที่เกี่ยวข้อง กับการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ ส่งผลให้แต่ละช่วง ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานแตกต่างกัน โดยช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานมากที่สุด เรียกว่า “Solar Maximum” จะเป็น ช่วงที่มี sunspot บนพื้นผิวมากที่สุด และในทางตรงกันข้าม ช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานน้อย (เงียบสงบ) และแทบจะไม่มี sunspot บนพื้นผิวเลย เรียกว่า “Solar Minimum”



ขณะนี้ ดวงอาทิตย์กำลังอยู่ในช่วงที่มี sunspot เพิ่มมากขึ้น  และจากข้อมูลเชิงสถิติโดย หน่วยงานการบริหารจัดการมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ ของ สหรัฐฯ หรือ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration)  คาดว่า ดวงอาทิตย์จะเข้าสู่ช่วง Solar Maximum ในช่วงกลางปีนี้  ดวงอาทิตย์จะมี sunspot เพิ่มมากขึ้น เกิดพายุสุริยะบ่อยและรุนแรงมากขึ้น ซึ่ง ช่วงพีคของ Solar Maximum ในรอบนี้ คาดว่าจะกินเวลาไปจนถึงปลายปี 2568 หลังจากนั้นจำนวน sunspot จะค่อย ๆ ลดลง แล้วไปน้อยลงที่สุดในช่วงปี 2576 ทั้งนี้ แม้จะเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานออกมามากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์บนโลกแต่อย่างใด  เนื่องจากสนามแม่เหล็ก และชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของโลก  จะสามารถป้องกันอนุภาคและรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ได้ แต่สำหรับดาวเทียมที่โคจรอยู่นอกโลก อาจเกิดความเสียหาย ต่อระบบวงจรไฟฟ้าได้ รวมถึงนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่นอกโลก ก็อาจได้รับปริมาณรังสีและอนุภาคพลังงานสูงเพิ่มมากขึ้น



ก่อนหน้านี้ ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สดร. เคยเขียนบทความเกี่ยวกับพายุสุริยะรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ ว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฎจักรปกติของดวงอาทิตย์ ไม่ได้เป็นเหตุให้ต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด ซึ่ง ดวงอาทิตย์และโลกของเราผ่านวัฎจักรเช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว โดย Solar maximum ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 พายุสุริยะเป็นเรื่องที่น่าสนใจต่อมนุษย์ที่เกรงว่าจะเกิดอันตราย ทำให้ระบบไฟฟ้าหรือการสื่อสารขัดข้อง โดยพายุสุริยะขนาดรุนแรงที่เคยสร้างความเสียหายที่เป็นที่น่าจดจำ ได้แก่ Carrington Event ในปี 2945 ที่ทำให้เกิดแสงออโรร่าเป็นวงกว้าง และมีรายงานไปถึงประเทศแถบศูนย์สูตรบางประเทศ ทำให้ระบบการส่งโทรเลขในยุคนั้นล่มลงไปชั่วคราว หรือ พายุสุริยะในปี 2532 ที่ส่งผลต่อระบบจ่ายไฟฟ้าในประเทศแคนาดา ทำให้ไฟดับเป็นวงกว้าง แต่ขณะเดียวกันในช่วง Solar maximum ในปี 2557 หรือก่อนหน้าในปี 2546 ก็ไม่ได้เกิดเหตุขัดข้องที่รุนแรงในระดับที่ส่งผลเป็นวงกว้างต่อมนุษย์บนโลกแต่อย่างใด



แต่สำหรับดาวเทียมและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ในอวกาศนั้น มีความเสี่ยงต่อพายุสุริยะมากกว่ามนุษย์บนโลกเป็นอย่างมาก ดังนั้น การเตือนภัยล่วงหน้าอาจจะทำให้ผู้ควบคุมสามารถปิดระบบที่สำคัญ หรือหันทิศทางของดาวเทียมหรือยานอวกาศที่จะลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุสุริยะลงได้เป็นอย่างมาก ทำให้องค์การนาซ่าพัฒนาระบบเอไอ ที่สามารถนำข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมศึกษาดวงอาทิตย์ เพื่อทำนายโอกาส ความรุนแรง และเวลาที่อาจจะเกิดพายุสุริยะขึ้นได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เพื่อรับมือการเข้าสู่ช่วง Solar maximum ที่อาจจะมีความถี่ของปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยขึ้น อย่างไรก็ตาม ดร.มติพล กล่าวไว้ว่า แม้เรากำลังจะเข้าสู่ช่วง Solar maximum ในปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า แต่ในปัจจุบันยังไม่ได้มีเหตุให้ต้องเฝ้าระวังภัยแต่อย่างใด และ Solar maximum นั้นเป็นเรื่องของแนวโน้ม และเรายังไม่มีเทคโนโลยีที่จะสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนในระดับหลายปีล่วงหน้า และปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดว่า Solar maximum ที่กำลังจะมาถึงนั้น มีสิ่งที่แตกต่างจากเพียงวัฎจักรธรรมดาของธรรมชาติ ที่เราผ่านกันมาหลายต่อหลายครั้งแล้วแต่อย่างใด



เรียบเรียงโดย : กาญธิกา มาเรียน อังคณิต

ข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง