โควิดระลอกนี้ติดกันเยอะมากขึ้น! กักตัวกี่วัน? ปลอดภัยสุดไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น
โควิด-19 ระลอกนี้ติดกันเยอะมากขึ้น "หมอธีระ" แนะกักตัวกี่วัน? ปลอดภัยสุดไม่แพร่เชื้อให้คนอื่นต่อ พร้อมย้ำไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า เช้านี้...ยังคงมีรายงานให้ทราบว่าติดกันรัวๆ
ระลอกนี้เยอะมากนะครับ
ติดเชื้อแล้วยังควรแยกตัวจากผู้อื่น 7-10 วัน จนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ จากนั้นจึงค่อยมาทำงานหรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวเคร่งครัดจนครบ 14 วัน
ด้วยหลักฐานทางการแพทย์จากการวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
หากติดเชื้อและแยกตัว 5 วัน มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้อยู่ 50-75%
7 วัน 25-30%
10 วัน 10%
14 วัน ก็จะปลอดภัย
แต่หากไม่แยกตัว หรือแยกตัวระยะสั้น ไม่เพียงพอ ย่อมเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้
ที่ทำงานควรช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเองให้มีการถ่ายเทอากาศ ระมัดระวังการรับประทานอาหารร่วมกัน และรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ยังโพสต์ข้อความอีกโดยระบุว่า 28 เมษายน 2566 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 50,572 คน ตายเพิ่ม 151 คน รวมแล้วติดไป 686,845,684 คน เสียชีวิตรวม 6,862,311 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และเวียดนาม
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.47 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.82
...อัพเดตจาก WHO
องค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Update ล่าสุดเมื่อคืนนี้ 27 เมษายน 2566
ในรอบ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีรายงานเคสใหม่และจำนวนเสียชีวิตลดลง ยกเว้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก
ทั้งนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมประเทศไทยด้วย) นั้นมีเคสใหม่เพิ่มขึ้นถึง 666% และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 305%
ข้อมูลการตรวจสายพันธุ์ของไวรัสในช่วง 3-9 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.x นั้นครองสัดส่วนการระบาดสูงสุดกว่า 75% ทั่วโลก
โดยที่ XBB.1.5 มีสัดส่วนตรวจพบสูงสุดราว 45.4% ซึ่งมีรายงานการตรวจพบไปแล้ว 103 ประเทศ
ในขณะที่ XBB.1.16.x ที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิดเพราะมีสมรรถนะการแพร่ที่สูงนั้น ยังมีสัดส่วนการตรวจพบไม่มากนัก อยู่ราว 4.3%
...สถานการณ์ของไทยเรานั้น ตอนนี้ติดเชื้อกันเยอะมากกกกก
และมีการติดกันยกครัวกันมากเช่นกัน
ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
ติดแต่ละครั้ง ไม่ใช่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ที่จะส่งผลต่อสมรรถนะการดำเนินชีวิตและบั่นทอนคุณภาพชีวิตด้วย
ระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน
ทุกวันนี้ เห็นความประมาทและละเลยเพิกเฉย ไม่ป้องกันตัว ไม่ใส่หน้ากากในธุรกิจอุตสาหกรรมบริการ ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม และท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีโอกาสสัมผัสและพบปะผู้คนจำนวนมากในแต่ละวัน
การคุยกันระยะใกล้ โดยที่คนคนนั้นไม่มีไอ ไม่มีจาม มีการวิจัยพบว่าจะมีละอองน้ำลาย (aerosol) ขนาดราว 1 ไมครอนออกมาเวลาพูดคุยกันได้
แถมจำนวนละอองฝอยขนาดเล็กนี้ มีปริมาณถึง 10 ละอองต่อวินาที
นั่นคือ การคุยกันธรรมดา 10 นาที เรามีโอกาสสัมผัสละอองฝอยจากคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการใดๆ มากถึง 6,000 ละอองฝอย
แต่หากคุยแบบเสียงดัง ตะโกน ตะเบ็ง จำนวนละอองฝอยที่ออกมาจะมากยิ่งขึ้น
เราย่อมไม่แปลกใจว่า หากไม่ป้องกันตัวในสถานการณ์ข้างต้นย่อมเสี่ยงที่จะนำไปสู่การแพร่เชื้อติดเชื้อกันจำนวนมากในสังคมได้
เพื่อให้การใช้ชีวิต การทำงาน การเรียน เป็นไปได้อย่างปลอดภัย จึงควรตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว และเรียนรู้ที่จะใส่ใจสุขภาพ ป้องกันตัวให้ดีและสม่ำเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
อ้างอิง
Asadi S et al. The coronavirus pandemic and aerosols: Does
COVID-19 transmit via expiratory particles? Aerosol Science and Technology. 3 April 2020. DOI: 10.1080/02786826.2020.1749229
ข้อมูลจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ภาพจาก TNN ONLINE