รีเซต

ทำความรู้จัก ‘กลุ่มฮามาส’ ศัตรูคู่แค้นอิสราเอล

ทำความรู้จัก ‘กลุ่มฮามาส’ ศัตรูคู่แค้นอิสราเอล
TNN ช่อง16
14 พฤษภาคม 2564 ( 19:52 )
417

วันนี้ ( 14 .. 64 )สำนักข่าวบีบีซรายงานว่า ฮามาส คือหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งปกครองดินแดนฉนวนกาซา ชื่อของฮามาสในภาษาอาหรับหมายถึง ขบวนการต่อต้านอิสลาม ถือกำเนิดขึ้นในปี 1987 หลังเกิดการลุกฮือครั้งแรกของชาวปาเลสไตน์ เพื่อต่อต้านการครอบครองเขตเวสต์ แบงค์ และฉนวนกาซ่าของอิสราเอล


ธรรมนูญของกลุ่ม กำหนดว่ากลุ่มฮามาสมีหน้าที่ทำลายอิสราเอล


แต่แรกเริ่ม กลุ่มฮามาสมีเป้าหมายสองภารกิจ คือ การเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อสู้กับอิสราเอล และอีกด้าน กลุ่มฮามาสได้จัดทำโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์


นับตั้งแต่ปี 2005 ที่อิสราเอลถอนทหารและการตั้งถิ่นฐานออกจากฉนวนกาซา กลุ่มฮามาสได้เข้ามาร่วมในกระบวนการทางการเมืองของปาเลสไตน์มากขึ้น โดยสามารถชนะการเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่สภานิติบัญญัติด้วย ก่อนที่จะสามารถกระชับอำนาจในกาซาได้มากขึ้นอีก ด้วยการขับขบวนการฟาทาห์ ของประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาสออกไปด้วย 


ทั้งนี้ อิสราเอล สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ขึ้นบัญชีให้กลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย


นอกจากนี้ กลุ่มฮามาสยังเป็นกลุ่มปาเลสไตน์หลักที่ต่อต้านข้อตกลงสันติภาพในช่วงปี 1990 ระหว่างอิสราเอลกับ Palestine Liberation Organisation หรือ PLO ซึ่งเป็นองค์กรหลักของชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ด้วย


ในปี 1996 กลุ่มฮามาสก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายครั้ง ทำให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิตเกือบ 60 คน ทำให้อิสราเอลตอบโต้ด้วยการสังหาร ยาห์ยา ไอยยาช ผู้ผลิตระเบิดของกลุ่มฮามาส เหตุขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ และทำให้เบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งเป็นนักการเมืองสายเหยี่ยว ได้เข้ามามีอำนาจในรัฐบาลอิสราเอลปีนั้นเอง



หลังจากนั้นมา กลุ่มฮามาสมีอำนาจและอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ และยังเปิดคลินิกและโรงเรียนช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ที่สิ้นหวังกับองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ ที่บริหารโดยกลุ่มฟาทาห์


ต่อมาในปี 2006 กลุ่มฮามาสสามารถเอาชนะการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของปาเลสไตน์มาอย่างถล่มทลาย ทำให้เกิดภาวะแย่งชิงอำนาจกับกลุ่มฟาทาห์ กลุ่มฮามาสต่อต้านความพยายามทุกวิถีทางในการลงนามข้อตกลงใดๆระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล รวมถึงต่อต้านการยอมรับความชอบธรรมใดๆของอิสราเอล


ทั้งนี้ ธรรมนูญของกลุ่มฮามาสที่มีมาตั้งแต่ปี 1988 ให้คำนิยามว่า ดินแดนประวัติศาสตร์ของปาเลสไตน์ ซึ่งรวมถึงอิสราเอลในปัจจุบัน ถือเป็นดินแดนของอิสลาม และกลุ่มฮามาสจะไม่มีสันติภาพถาวรกับรัฐยิว


อย่างไรก็ตามในปี 2017 กลุ่มฮามาสได้มีการออกนโยบายใหม่ที่ลดความกร้าวลงบางส่วน และใช้ภาษาที่ระมัดระวังขึ้นแม้ในนโยบายใหม่ กลุ่มฮามาสยังไม่ยอมรับการมีอยู่ของอิสราเอล แต่กลุ่มยอมรับการเกิดของรัฐปาเลสไตน์ชั่วคราวในฉนวนกาซา เวสต์ แบงค์ และเยรูซาเลมตะวันออกเอกสารยังย้ำด้วยว่า การต่อสู้ของกลุ่มฮามาสนั้นไม่ได้ต่อต้านชาวยิว แต่เป็นการต่อสู้กับขบวนการไซออนิสต์ผู้รุกราน หลังจากนั้น รัฐบาลปาเลสไตน์ที่นำโดยกลุ่มฮามาส เผชิญการคว่ำบาตรทั้งทางเศรษฐกิจและการทูตอย่างหนักจากอิสราเอลและชาติพันธมิตรตะวันตก


ในปี 2007 หลังกลุ่มฮามาสขับไล่กองกำลังที่สวามิภักดิ์ต่อกลุ่มฟาทาห์ออกจากฉนวนกาซาไป อิสราเอลได้ทำการปิดกั้นพื้นที่ดังกล่าว และเปิดการเผชิญหน้าระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง

 

ในปี 2008 กองทัพอิสราเอลได้มีปฏิบัติการ Operation Cast Lead เพื่อหยุดยั้งการโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซา ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตมากกว่า 1,300 คน ในช่วงเวลา 22 วันจองการโจมตี



ต่อมาในปี 2014 มีจรวดจากฉนวนกาซาโจมตีอิสราเอลอีก หลังอิสราเอลจับกุมสมาชิกกลุ่มฮามาสสามคนในเขตเวสต์แบงค์ เพื่อหาผู้ก่อเหตุฆาตกรรมวัยรุ่นอิสราเอลสามคน ต่อมากลุ่มฮามาสอ้างความรับผิดชอบเป็นผู้ยิงจรวดใส่อิสราเอลเป็นครั้งแรกในรอบสองปี ทำให้วันรุ่งขึ้น อิสราเอลมีปฏิบัติการ Operation Protective Edge เพื่อทำลายจรวดและอุโมงค์ข้ามพรมแดนที่กลุ่มติดอาวุธใข้


ความขัดแย้งครั้งนั้นกินเวลา 50 วัน ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 2,251 คน กว่าครึ่งเป็นพลเรือน ในฝั่งของอิสราเอลมีทหารเสียชีวิต 67 คน และพลเรือน 6 คน นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เกิดความรุนแรงขึ้นเป็นประจำระหว่างสองฝ่าย และมักจบลงด้วยการเจรจาของอียิปต์ กาตาร์ และสหประชาติ แต่ยังไม่เคยเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ


กล่มฮามาสเอง แม้จะเผชิญการปิดกั้น แต่ยังคงรักษาอำนาจในฉนวนกาซาอย่างเหนียวแน่น และยังเพิ่มคลังจรวดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเจรจาระหว่างกลุ่มฮามาสและกลุ่มฟาทาห์ยังคงล้มเหลว  ขณะเดียวกัน สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมสำหรับชาวปาเลสไตน์กว่าสองล้านคนในกาซานั้นกลับเลวร้ายลง เศรษฐกิจในกาซาล่มสลาย และยังเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำ ไฟฟ้าและยารักษาโรคด้วย



ข่าวที่เกี่ยวข้อง