รีเซต

เฮ! Google เปิดให้บริการ ‘Bard’ แชตบอต AI สุดอัจฉริยะในยุโรปและบราซิล

เฮ! Google เปิดให้บริการ ‘Bard’ แชตบอต AI สุดอัจฉริยะในยุโรปและบราซิล
TNN ช่อง16
15 กรกฎาคม 2566 ( 01:16 )
139
เฮ! Google เปิดให้บริการ ‘Bard’ แชตบอต AI สุดอัจฉริยะในยุโรปและบราซิล

บริษัท อัลฟาเบต (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล ประกาศให้บริการ “บาร์ด” (Bard) แชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในทวีปยุโรปและบราซิลแล้วในวันที่ 13 กรกฎาคม นับเป็นการขยายการให้บริการครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การเปิดตัวโปรแกรมผู้ช่วยอัจฉริยะนี้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันประเทศที่ให้บริการบาร์ดกว่า 230 ประเทศทั่วโลก


แน่นอนว่านี่เป็นท่าทีล่าสุดของกูเกิลในการต่อสู้กับแชตจีพีที (ChatGPT) แชตบอตปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะจากบริษัทเอเพนเอไอ (OpenAI) ที่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ทุ่มทุนสนับสนุนถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 350 ล้านบาทไปก่อนหน้านี้


ในสนามการแข่งขันที่บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ กระโดดเข้าไปลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) นี้ บาร์ดและแชตจีพีทีล้วนเป็นแชทบอท AI ที่สามารถเข้าใจคําถามและตอบกลับได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างเจเนอเรทิฟ เอไอ (Generative AI) หรือเอไอที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ จากชุดข้อมูลที่มีด้วยอัลกอริทึม ซึ่ง AI ที่ชาญฉลาดนี้ได้สร้างความตื้นเต้น พร้อมทั้งความวิตกกังวลให้กับผู้คนทั่วโลกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022


การเปิดตัวบาร์ดในยุโรปและบราซิลครั้งนี้ กูเกิลยังได้เพิ่มฟีเชอร์ใหม่ให้กับแชตบอตที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก แจ๊ก ครอวชิก (Jack Krawczyk) ผู้อำนวยการด้านผลิตภัณฑ์อาวุโสของกูเกิลระบุว่า ตั้งแต่วันนี้ ผู้ใช้สามารถสนทนากับบาร์ดได้กว่า 40 ภาษา รวมถึงภาษาอาหรับ จีน เยอรมัน ฮินดี และสเปน ซึ่งบาร์ดสามารถพูดตอบโต้คําถามต่าง ๆ รวมถึงคำถามที่เป็นรูปภาพได้ และว่า ผู้ใช้สามารถปรับแต่งน้ำเสียงและสไตล์การโต้ตอบของบาร์ดได้ ทั้งแบบธรรมดา แบบยาว แบบสั้น แบบมืออาชีพ หรือแบบไม่เป็นทางการ อีกทั้งยังสามารถปักหมุด หรือเปลี่ยนชื่อการสนทนาได้อีกด้วย


นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลความเป็นส่วนตัวของสหภาพยุโรป (อียู) ยังอนุมัติให้กูเกิลเปิดตัวบาร์ดในยุโรป โดยครอวชิกกล่าวว่า กูเกิลได้เข้าพบหน่วยงานเฝ้าระวังเพื่อสร้างความมั่นใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส ทางเลือก และการควบคุมของผู้


สอดคล้องกับที่อมาร์ สุบรามันยา (Amar Subramanya) รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของบาร์ด กล่าวในการแถลงข่าวว่า ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะไม่อนุญาตให้โปรแกรมเก็บข้อมูลของตนได้


อย่างไรก็ดี กูเกิลเพิ่งถูกกล่าวหาในการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมในสหรัฐอเมริกาส่าใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ในทางที่ผิด เพื่อสอนระบบเอไอของบริษัท ขณะที่สุบรามันยาปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นว่ากูเกิลมีแผนพัฒนาบาร์ดอีกหรือไม่


ขณะที่ความตื่นตาตื่นใจของผู้คนต่อความแปลกใหม่ของแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจกำลังหายไป เห็นได้จากจำนวนการเข้าใช้เว็บไซต์ของ แชตจีพีทีรายเดือน รวมถึงผู้เข้าชมเว็บไซต์ ซึ่งนับจากไอพีแอดเดรส (IP Address) ที่ไม่ซ้ำกันลดลงเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน คงต้องติดตามกันต่อไปว่าการแข่งขันทาง AI นี้จะเป็นอย่างไร


ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Reuters


ข่าวที่เกี่ยวข้อง