รีเซต

เบาหวานร่วมCOVID19เสี่ยงตาย9%-อายุน้อยได้เปรียบ ติดยาก

เบาหวานร่วมCOVID19เสี่ยงตาย9%-อายุน้อยได้เปรียบ ติดยาก
TNN ช่อง16
6 มีนาคม 2563 ( 08:31 )
98
เบาหวานร่วมCOVID19เสี่ยงตาย9%-อายุน้อยได้เปรียบ ติดยาก

ทีมสำรวจของWHOที่ส่งลงไปในพื้นที่แพร่ระบาดของจีน เผยข้อสรุป COVID-19 อาการพบบ่อยสุดคือไข้และไอแห้ง น้ำมูกไหลไม่ใช่อาการบ่งชี้ อัตราการตายของผู้ติดเชื้อในจีนอยู่ที่4% อายุน้อยได้เปรียบ ติดเชื้อยากกว่า ติดแล้วอาการไม่แรงเท่าผู้ใหญ่ พันธุกรรมโรคคล้ายโคโรน่าในค้างคาว 96% และในตัวนิ่ม 86-92% เป็นไปได้ที่โรคนี้จะเกิดจากสัตว์สู่คน และโรคนี้ก่อความรุนแรงให้สตรีที่กำลังตั้งครรภ์สูงกว่าผู้ติดเชื้อกลุ่มอื่น

และต่อไปนี้ก็คือ ข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้หลังจากปฏิบัติงานผ่านไป 9 วัน 

กรณีส่วนใหญ่ (78-85%) เกิดจากการติดต่อกันในครอบครัวจากละอองเสมหะ (droplet) ไม่ใช่จากการกระจายจากละอองลอย (aerosol) เป็นหลัก

ส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ติดเชื้อ (จากทั้งหมด 2,055 คน) ติดเชื้อจากที่บ้าน หรือไม่ก็ติดเชื้อจากการระบาดในช่วงแรกที่ยังไม่มีการประกาศมาตรการรับมือโรค

ราว 5% ของคนที่วินิจฉัยว่าป่วย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อีก 15% ต้องใช้ออกซิเจนเข้มข้นสูง

ช่วงการฟื้นตัวโดยเฉลี่ยราว 3–6 สัปดาห์ สำหรับรายที่อาการหนัก และ 2 สัปดาห์สำหรับรายที่ป่วยไม่มาก

จำนวนผู้ป่วยและช่วงเวลาที่ใช้รักษาเป็นภาระหนักเกินกว่าระบบที่อู่ฮั่นรองรับได้ จังหวัดหูเป่ย เมืองหลวงมณฑลอู่ฮั่นมีผู้ป่วยราว 65,596 คน (ข้อมูลวันที่ 2 มี.ค. 2563)

มีการส่งคนไปช่วยรับมือที่หูเป่ยราว 40,000 คน ในอู่ฮั่นมีโรงพยาบาล 45 แห่งที่ใช้รองรับผู้ป่วย โดย 6 แห่งรองรับผู้ป่วยขั้นวิกฤติ และอีก 39 แห่งรองรับผู้ป่วยหนัก โดยเฉพาะกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี

มีการสร้างโรงพยาบาลสนามขนาด 2,600 เตียงอย่างรวดเร็ว

ผู้ป่วยราว 80% มีอาการไม่หนัก มีโรงพยาบาลชั่วคราว 10 แห่งที่ปรับใช้จากการดัดแปลงยิมเนเซียมและห้องจัดแสดงนิทรรศการ

ขณะนี้ จีนผลิตชุดตรวจโรคโคโรนาไวรัสใหม่นี้ ราว 6 ล้านชุด/สัปดาห์ โดยรู้ผลการตรวจได้ในวันเดียว ใครที่มีไข้และไปพบแพทย์ จะได้รับการตรวจเบื้องต้นด้วยชุดตรวจนี้ ในเมืองกวางตุ้งที่ห่างจากอู่ฮั่น ได้ทดสอบกับคนไปแล้วรวม 320,000 คน และมี 0.14% ที่ตรวจแล้วพบไวรัส

คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อ มักจะมีอาการในที่สุด แม้ว่าจะช้าเร็วต่างกัน ในกรณีที่ตรวจพบไวรัสแต่ยังไม่มีอาการนั้น หายาก และส่วนใหญ่จะป่วยในอีกสองสามวันต่อมา

อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ มีไข้ (88%) ไอแห้งๆ (68%) ไม่มีเรี่ยวแรง (38%) ไอแบบมีเสมหะ (33%) หายใจลำบาก (18%) เจ็บคอ (14%) ปวดหัว (14%) ปวดกล้ามเนื้อ (14%) หนาวสั่น (11%) อาการที่พบน้อยลงมาหน่อยคือ คลื่นไส้และอาเจียน (5%) คัดจมูก (5%) และท้องเสีย (4%)

อาการที่ไม่ใช่สัญญาณโรคของโควิด-19 คือ น้ำมูกไหล

จากการตรวจสอบคนจีนที่ติดเชื้อรวม 44,672 คน มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 4%

อัตราการเสียชีวิตขึ้นเป็นอย่างมากกับ อายุ, สภาพร่างกายก่อนติดเชื้อ, เพศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบสุขภาพที่รับมือโรค

ตัวเลขการเสียชีวิตนับจนถึงวันที่ 17 ก.พ. ทุกรายสะท้อนผลระบบสุขภาพที่ใช้รับมือของจีน ซึ่งจะต่างออกไปเป็นอย่างมากในอนาคต สำหรับที่อื่นๆ

ระบบสุขภาพของจีน: คนที่ติดเชื้อในจีนราว 20% ต้องการการรักษาที่โรงพยาบาลนานหลายสัปดาห์ จีนมีโรงพยาบาลเพียงพอจะใช้รักษาประชากรได้ 4% ของทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ มีศักยภาพราว 0.1–1.3% และเตียงส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีผู้ป่วยโรคอื่นใช้อยู่แล้ว

วิธีการรับมือที่สำคัญแรกสุดที่จะช่วยป้องกันการกระจายของไวรัสได้อย่างชะงัด คือทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักโรคนี้มีจำนวนน้อย และขั้นตอนสำคัญรองลงมาคือ การเพิ่มจำนวนเตียง (รวมทั้งวัสดุและบุคลากร) จนกว่าจะมีเพียงพอสำหรับผู้ป่วยหนัก

จีนทดสอบการรักษาด้วยวิธีการที่หลากหลายกับโรคที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และนำวิธีการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดไปใช้ทั่วประเทศ ด้วยวิธีการตอบสนองเช่นนี้เอง ที่ทำให้อัตราการตายลดลงกว่าเมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้

สภาพร่างกายก่อนการติดเชื้อ: อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่มีโรคระบบหลอดเลือดหัวใจในจีนคือ 2% ขณะที่สำหรับคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง (เบาหวานที่ไม่ควบคุม) อยู่ที่ 9.2% และ 8.4% สำหรับโรคความดันสูง, 8% สำหรับโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และ 7.6% สำหรับโรคมะเร็ง

คนที่ไม่มีอาการป่วยใดๆ ก่อนติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตที่ 1.4%

อายุ: ยิ่งอายุน้อย ก็ยิ่งติดเชื้อยาก และแม้จะติดเชื้อ ก็จะป่วยไม่หนักเท่ากับผู้ที่อายุมากกว่า

เพศ: ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคเท่าๆ กับผู้ชาย มีหญิงชาวจีนเพียง 8% เท่านั้นที่ ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคนี้ ขณะที่ผู้ชายราว 4.7% เสียชีวิต

โรคนี้รุนแรงในกลุ่มผู้หญิงมีครรภ์มากกว่ากลุ่มอื่น

เด็กที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อด้วยวิธีผ่าคลอดรวม 9 รายที่ตรวจสอบ สุขภาพแข็งแรงและไม่ติดเชื้อ

มารดาเหล่านั้นติดเชื้อในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์

ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า หากเกิดการติดเชื้อในช่วง 3 หรือ 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เด็กในท้องจะเป็นอย่างไร เพราะเด็กเหล่านี้ยังไม่ถึงกำหนดคลอดในปัจจุบัน

ไวรัสชนิดใหม่นี้ มีพันธุกรรม 96% เหมือนกับโคโรนาไวรัสที่รู้จักแล้วที่อยู่ในค้างคาว และเหมือนโคโรนาไวรัสในตัวนิ่ม (pangolin) 86-92% ดังนั้น มีความเป็นไปได้มากกว่า ที่มาของไวรัสใหม่นี้คือ ส่งผ่านไวรัสที่กลายพันธุ์จากสัตว์มายังคน

นับตั้งแต่สิ้นเดือนมกราคม จำนวนคนที่มีโคโรนาไวรัสในจีนค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงตอนนี้มีเพียง 329 รายที่วินิจฉัยพบใหม่ เทียบกับประมาณหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ที่พบราว 3,000 รายต่อวัน

รายงานสรุปว่า “ปรากฏการณ์ลดลงของจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในจีนน่าจะเป็นเรื่องจริง”

ผู้จัดทำรายงานสรุปว่า จากการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ มีการลงลงของผู้ป่วยที่ไปยังโรงพยาบาลในบริเวณที่เกิดการระบาด, มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนเตียงที่ว่าง, และนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนเริ่มประสบปัญหาเรื่องการหาจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ๆ ให้มากพอ สำหรับใช้ในการทดสอบทางคลินิกของยามากมายหลายตัว

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เชื่อว่า ควบคุมการระบาดในจีนได้แล้วก็คือ มีการสัมภาษณ์คนที่ติดเชื้อทุกคนทั่วประเทศ เกี่ยวกับคนที่เคยสัมผัส และทดสอบคนกลุ่มดังกล่าวแล้ว โดยมีทีม 1,800 ทีมในอู่ฮั่นที่ทำเรื่องนี้ แต่ละทีมจัดการกับอย่างน้อย 5 คน แต่ความพยายามนอกอู่ฮั่นก็มากมายเช่นกัน เช่น [1] ในเซินเจิ้น ผู้ติดเชื้อระบุรายชื่อคนที่ติดต่อด้วยรวม 2,842 คน มีการค้นหาจนพบหมดทุกคน และมีการทดสอบไปแล้วถึง 2,240 ราย โดยมี 8% ในจำนวนนี้ที่ติดเชื้อ [2] ในจังหวัดเสฉวน มีคนที่ติดต่อด้วยที่ระบุชื่อไว้ 25,493 คน โดยพบตัวแล้ว 99% (25,347 คน) และตรวจสอบไปแล้ว 23,178 คน โดยพบว่ามีการติดเชื้อ 0.9% [3] ในจังหวัดกวางตุ้ง มีคนในรายชื่อที่ติดต่อกัน 9,939 คน พบตัวหมดแล้ว มีการตรวจสอบไปแล้ว 7,765 คน และพบติดเชื้อ 4.8% ซึ่งก็หมายความว่า หากบังเอิญคุณติดต่อโดยตรงกับคนที่ติดเชื้อ จะมีโอกาสติดเชื้ออยู่ระหว่าง 1–5 %

ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  

แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์, ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.

[ต้นฉบับภาษาอังกฤษ]

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง