'วิษณุ' ชี้ หลักเกณฑ์ปลดล็อกระยะ 2 ให้ยึดตามระยะ1 ลั่นเร็วไปที่พูดเรื่องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 13 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาผ่อนปรนให้เปิดกิจการและกิจกรรม ในระยะที่ 2 ว่า ยังตอบไม่ได้ในขณะนี้ว่าจะมีอะไรบ้าง ต้องรอผู้เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์และรายงานยังที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่ ในวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคมนี้ โดยเกณฑ์ที่ศบค.จะใช้ในการพิจารณาเพื่อผ่อนคลาย จะยึดตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับในระยะที่ 1 ได้แก่ 1.โอกาสเสี่ยงของบุคคล เช่น คนบางประเภทเสี่ยง แต่คนบางประเภทไม่เสี่ยง อาทิ คนที่อยู่บ้านกับคนที่เดินทาง เด็กกับผู้ใหญ่ เป็นต้น 2.โอกาสเสี่ยงด้านสถานที่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด ผับ บาร์ เป็นต้น และ 3.โอกาสเสี่ยงของแต่ละกิจกรรมและกิจการ เช่น กิจกรรมบางอย่าง รวมตัวกัน 5-10 คน มีความเสี่ยง แต่กิจกรรมบางอย่างไม่เสี่ยง เพราะมีคนดูแล ดังนั้นจะใช้ 3 หลักเกณฑ์นี้ที่ใช้ผ่อนคลายในระยะที่ 1 มาพิจารณา
นายวิษณุ กล่าวว่า จากพฤติกรรม ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1พฤษภาคม มาถึงวันนี้ หากดูจากจำนวนผู้ป่วยสะสม ผู้ป่วยหายกลับบ้าน และผู้เสียชีวิตที่ลดลงนั้น ถือเป็นดัชนีชี้วัด แต่สิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจและไม่สามารถผ่อนคลายได้ทั้งหมด เพราะยังมีการละเมิดข้อกำหนด อยู่ เช่น ละเมิดเคอร์ฟิว มีการเดินทางข้ามจังหวัดซึ่งไม่ได้ห้าม แต่มีโอกาสเสี่ยง และยังมีการเดินทางเข้าประเทศอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะมีวันหยุดหลายวัน แต่หลังจากนี้จะไม่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน จะมีอีกทีหนึ่งประมาณเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ยังมีผู้เดินทางเข้าในประเทศจำนวนมาก ทำให้วันนี้ยังไม่สามารถเปิดอะไรได้หมด แต่ควบคุมอยู่ เพื่อเตรียมไปสู่การผ่อนคลายระยะที่ 2 ส่วนที่มีผู้ประกอบการเสนอขอขยายเวลาเคอร์ฟิว จากเดิม 22.00 น.-04.00 น. เป็น 23.00น.-04.00 น. จะมีแนวโน้มที่เป็นไปได้หรือไม่ ยังไม่ทราบ เพราะศบค.ชุดเล็ก กำลังพิจารณากันอยู่
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีโอกาสที่จะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เร็วไปที่จะพูดในขณะนี้ เพราะยังมีเวลาอีกครึ่งเดือนกว่าจะครบกำหนดประกาศในวันที่ 31 พฤษภาคมยังตอบอะไรไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่าหากไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่สามารถประกาศเคอร์ฟิวได้ต่อไปใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ แต่ใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ แต่พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่ได้ให้อำนาจนายกฯ และครม.แต่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้า 76 จังหวัดและกทม.ออกมาตรการมาคนละมาตรฐาน ก็จะลำบากเพราะการกระทำของแต่ละจังหวัดก็จะเกิดผลทบต่างๆตามมาได้ เช่น การปิดผับ บาร์ ก็ทำให้คนตกงานและจะวิ่งมาให้รัฐบาลกลางเยียวยา ดังนั้นจังหวัดอาจไม่มั่นใจในการใช้อำนาจบางอย่าง เพราะมีผลกระทบมาก แต่หากเป็นรัฐบาลกลางมีอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่หากสั่งปิดไปแล้วเมื่อเกิดอะไรขึ้นก็มีการเยียวยาได้
เมื่อถามว่า การผ่อนปรนในระยะที่ 2 ยังเน้นมาตรการ 4 ข้อหลัก ในเรื่องการเคอร์ฟิว การชะลอการเดินทาง ห้ามอากาศยานเข้าประเทศ และงดกิจกรรมการชุมนุมรวมกลุ่ม อยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจ แต่อาจมีการผ่อนคลายบางเรื่องใน 4 ประเด็นนี้ก็ได้ เช่น เครื่องบินที่ให้ปิด เพราะนำโควิดมา แต่อย่าลืมว่าก็นำคนที่ไม่เป็นโควิดและทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหวมาด้วย จึงต้องคิดตรงนี้ด้วย
เมื่อถามว่า การผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ อาจมีเพิ่มนอกเหนือจากที่ศบค.แถลงไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เขาพิจารณาหมดทุกรายการ แต่ตนไม่ทราบ ไม่อยากพูดให้ความหวัง ถ้าไม่เปิดแล้วจะเสียคนทั้งตนและสื่อ แต่กิจการไหนที่เปิดไปแล้วหากมีพฤติกรรมเกิดความเสี่ยงอีกก็สามารถปิดได้ทันที โดยอาจจะปิดเฉพาะร้าน เฉพาะราย หรือทั้งประเภทเลยก็ได้ แต่กิจการโรงแรม ภาครัฐไม่เคยสั่งปิดเพียงแต่ไม่มีคนมาพัก ก็ต้องปิดอัตโนมัติ ตอนนี้โรงแรมสามารถเปิดกิจการของตัวเองได้และยังให้เปิดร้านอาหารในโรงแรมได้ด้วย เช่นเดียวกับรีสอร์ท