รีเซต

เลขาธิการ สมช.รับปาก ไม่ใช้ "มาตรา 9" พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุม

เลขาธิการ สมช.รับปาก ไม่ใช้ "มาตรา 9" พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุม
มติชน
22 กรกฎาคม 2563 ( 13:51 )
130
เลขาธิการ สมช.รับปาก ไม่ใช้ "มาตรา 9" พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุม
เลขาธิการ สมช.รับปาก ไม่ใช้ “มาตรา 9” พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุม

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงถึงหลักการและเหตุผลของการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรต่อไปอีก 1 เดือน ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา หน่วยงานด้านความมั่นคงได้หารือร่วมกับประชาคมข่าวกรอง และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข โดยได้รับการยืนยันจากทีมแพทย์ ว่า ยังอยากให้มีกฎหมายลักษณะนี้ควบคุมต่อไปอีกซักระยะหนึ่งก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกมีการติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่มากกว่าวันละ 200,000 ราย ถือเป็นสถานการณ์รุนแรงที่รายล้อมประเทศไทยอยู่ จึงยังคงมีความจำเป็นต้องใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกซักระยะหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่าเราจำเป็นต้องเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น

“โดยวันนี้ ศบค.ได้ มีความเห็นชอบหลายประการในการเปิดประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการรับแรงงานต่างด้าว การมีโปรแกรมด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น การอนุญาตให้ชาวต่างชาติจากการประชุมในประเทศไทย รวมถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ประเทศไทย ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ บนพื้นฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่จะประกันได้ว่า สิ่งที่เราอนุญาตหรือผ่อนคลายไปในเชิงธุรกิจ เศรษฐกิจจะถูกชั่งน้ำหนักโดยความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เครื่องมืออย่างเดียวในขณะนี้ที่มีอยู่ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน โดยเฉพาะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีกฎหมายตัวอื่น แต่ไม่ได้แปลว่าเรานิ่งนอนใจ” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว

เลขาธิการ สมช. กล่าวและว่า ทีมงานกฎหมายและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้พยายามเร่งรัดที่จะปรับเปลี่ยนกฎหมายที่มีอยู่โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่เป็นกฎหมายสำคัญที่ใช้มนการควบคุมโรค เพื่อให้มีบทบาท/หน้าที่มากยิ่งขึ้น และใกล้เคียงกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงเป็นเครื่องมือเดียวในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะต้องคงมาตรการสำคัญของรัฐ โดยเฉพาะการกักตัว 14 วัน โดยขณะนี้มีการใช้มาตรา 9 ที่ค่อนข้างเบาที่สุด เช่น ไม่มีการควบคุมการออกนอกเคหะสถาน แต่เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจ ทางหน่วยงานจะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะต่อในเดือนสิงหาคมนี้ มีเจตนาโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อใช้ควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว

“การห้ามการชุมนุมจะไม่ปรากฎใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะต่อไปอีก 1 เดือน แต่การชุมนุมทางการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่เป็นกฎหมายปกติ โดยจะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ในการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 เดือน โดยไม่มีการห้ามการชุมนุม เพื่อให้มั่นใจว่าเราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้เพื่อประโยชน์ทางสาธารณสุขจริงๆ” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการชุมนุมที่เกิดขึ้นมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไปแล้ว จะมีการพิจารณาอย่างไร พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จะต้องว่าไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ส่วนนี้เป็นการพูดคุยเรื่องการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะไม่มีประเด็นการชุมนุมมาเกี่ยวข้อง เรื่องการชุมนุมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ขึ้นอยู่กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะแจ้งข้อหา โดยใช้กฎหมายอื่นหรือแม้การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ตาม

เมื่อถามว่าในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่จะมาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ทางทีมกฎหมายและ สธ.ดำเนินการอยู่ จะใช้กรอบเวลาเท่าใด พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โดยเร็วที่สุด โดยตั้งแต่มีการตั้ง ศบค.ขึ้นมามีการใช้ 2 กฎหมายสำคัญ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งใช้มาระยะหนึ่งพบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีจุดดีอย่างไร หรือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีข้อเสียอย่างไร แต่ไม่ใช่การเปรียบเทียบใน 2 กฎหมาย เนื่องจากกฎหมายถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ที่แตกต่างกัน พ.ร.ก.โรคติดต่อ ออกแบบมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ไขควบคู่กัน

“ทีมงานกฎหมายโดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม กำลังพิจารณาหาข้อดีของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาผนวกกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อในอนาคตจะได้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพียงอย่างเดียว หากประชาชนสังเกตดีๆ ช่วงต้นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อบังคับไม่ให้กระทำสิ่งใด หรือปิดกิจการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคและจำกัดการเคลื่อนไหว แต่ระยะหลังจะเห็นว่ามีมาตรการผ่อนคลายจนถึงระยะที่ 5 นั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้เพื่อประโยชน์ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่มีมาตรการอื่นในการบังคับประชาชน แต่จะต้องมีการใช้ต่อไปอย่างน้อยอีก 1 เดือน เพื่อรอว่าจะมีกฎหมายอื่นมาทดแทน” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง