วางหมากลงทุนให้พร้อม ฝ่าความผันผวนในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

นับตั้งแต่ “วันปลดแอก” ของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเรื่อง “ภาษีตอบโต้ หรือ (Reciprocal Tariff)” นับถึงวันนี้ผ่านมาหนึ่งเดือน เกิดเป็นกระแสตีกลับสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ จนทรัมป์เองแทบต้องกลืนเลือดตัวเอง ประกาศถอย แต่ไม่ยกเลิกนโยบายภาษีที่เพิ่งประกาศกร้าวไปได้ไม่นาน
เพราะเพียงแค่ 100 วันแรกของการทำงานในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ล่าสุดคะแนนความนิยมในตัวเขาดิ่งลงครั้งประวัติศาสตร์ ต่ำสุดรอบ 70 ปี
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ส่งเสียงเตือนถึง ผลสำรวจภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจว่า ความเชื่อมั่นของทั้ง 2 ภาคที่มีต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจกำลัง "ดิ่งลงอย่างหนัก" ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากมาตรการรีดภาษีครั้งนี้
ขณะที่ Bank Of America ระบุว่า “ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 30 ปี”
การปรับตัวล่วงหน้าของตลาดหุ้นทั่วโลกที่ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องนำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากตลาดหุ้นปรับขึ้นแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในส่วนของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่มีแรงเทขายหนักในช่วงเดือนนี้ ทั้งๆ ที่พันธบัตรถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจต่างๆ ที่ยังไร้ทิศทาง จนทำให้การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของเฟดยังต้องรอช่วงเปลี่ยนผ่านข้อมูลสะท้อนผลกระทบของสงครามการค้าโลกที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อต้นเดือนเมษายนนี้
แม้ทรัมป์จะให้เหตุผลของการทำสงครามการค้า ว่า นี่คือก้าวสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ตาม แต่ทั่วโลกกลับมองว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และเป็นดาบสองคมที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะย่ำแย่จนเข้าสู่ภาวะถดถอยได้เช่นกัน
คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ IMF ได้ระบุว่า ความตึงเครียดจากสถานการณ์การค้าโลกที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ในระบบการค้าโลกจะนำไปสู่ ‘การปรับลด’ คาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF และ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ กำลังถูกท้าทาย จากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ และการตอบโต้ที่เกิดขึ้นจากประเทศคู่ค้าจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนและความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดการเงินอย่างไม่คาดคิด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Global Recession) จะไม่เกิดขึ้น
Goldman Sachs ได้ปรับมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่า ภาวะถดถอย (Recession) ทางเศรษฐกิจ ในสหรัฐฯ ไม่น่าเกิดขึ้นแล้วหลังการประกาศเลื่อนภาษีชั่วคราวของทรัมป์ แต่ก็เตือนว่าตลาดหุ้นยังมีโอกาสร่วงลงหนัก เพราะความไม่แน่นอนยังสูง
ขณะเดียวกัน Goldman Sachs ยังได้ปรับลด GDP จีนลงเหลือเพียง +4% ในปีนี้ และ +3.5% ในปีหน้า พร้อมเตือนว่า แม้จีนจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็คงไม่สามารถชดเชยความเสียหายจากกำแพงภาษีนำเข้าได้
ตลาดการเงินโลกตกตั้งแต่ต้นปีมานี้อยู่ในภาวะความไม่แน่นอนสูงไปตามๆ กัน หากมาดูความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นต่างๆ ในปีนี้ พบว่า ตลาดสหรัฐฯ ร่วงหนักทั้งดัชนี S&P500 และ Nasdaq ทำสถิติต่ำสุดใหม่ของปี รับรู้ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจอ่อนแอ และเงินเฟ้อสูงจากสงครามการค้า หลังจากที่ขึ้นแรงติดต่อกันมา 2 ปี ปีละ 30-40% ก็เริ่มเข้าสู่โหมดปรับฐานอย่างที่เห็นกัน
ขณะที่ตลาดบอนด์และทองคำโลกพุ่งสวนขึ้นมา เช่นเดียวกับตลาดหุ้นจีนที่มีปัจจัยบวกในประเทศหนุนทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว รัฐบาลจีนระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรแตะ 1.45 ล้านล้านหยวน เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ พร้อมรับมือปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่จบ ภาวะเงินฝืดและผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ การระดมทุนล่วงหน้านี้ยังช่วยลดแรงกดดันตลาดพันธบัตรที่ฟื้นแรงในปีที่แล้ว
ส่วนตลาดหุ้นไทยแค่ไตรมาสแรก ก็เจอ 2 เด้งจากสงครามการค้าโลกและในประเทศที่เกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง แม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ลากตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนขาลงมากกว่าขาขึ้น
แม้ในช่วงปลายเดือนนี้บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากที่ทรัมป์ส่งสัญญาญยอมถอยแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาญบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ข้างหน้า ความสมดุลของผลประโยชน์ที่ต้องหาทางลงให้ได้ของประเทศยักษ์ใหญ่ ผ่านการเจรจาการค้าที่ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถหยั่งรู้ได้ว่าโลกที่อยู่ระหว่างการ ”เขย่าครั้งใหญ่” นี้ จะมีความขัดแย้งประทุขึ้นมาอีกเมื่อใด
ถ้าจะถามว่า หลังนี้ โลกจะปั่นป่วนแค่ไหน ตลาดหุ้นจะผันผวน ดิ่งลงหรือจะมีตลาดไหนที่รอดบ้าง ผมขอย้ำว่า “เป็นเรื่องที่เหนือคาดการณ์จริงๆ ครับ” แต่ถ้าเจอแบบนี้ ส่วนตัวผมจะมองอีกด้านเลยว่า ถึงตลาดจะผันผวนแค่ไหน แต่โอกาสทำกำไร ก็ยังมีเสมอครับ แล้วโอกาสที่ว่าอยู่ตรงไหน จะใส่เงินลงทุนต่อดีมั้ย ติดดอยหุ้นไทยอยู่ จะหนีไปหุ้นนอกดีมั้ย เมื่อต้องโลกต้องอยู่กับ “ทรัมป์” ป่วนโลกยาวๆ ไปอีก 4 ปี เราควรจัดพอร์ตลงทุนแบบไหนกันแน่ ผมจะค่อยๆ ฉายภาพรวมตลาดหุ้นก่อนนะครับ
ย้อนดูสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลก ปรากฎว่า หุ้นไทยให้ผลตอบแทนราวๆ 2.46% หุ้นจีน 3.43% ฮ่องกง 2.13% สะท้อนว่าหุ้นไทยไม่ได้แย่ในระยะยาว
ขณะที่ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีคือ ญี่ปุ่น 9% สหรัฐฯ 13% และเวียดนาม 11.19%
อย่างไรก็ตาม โอกาสการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ ทั้งนี้น้ำหนักส่วนใหญ่ 95% ของผลตอบแทนมาจากการลงทุนในทรัพย์สินที่ถูกต้องและประเทศที่ถูกต้องครับ
คุณคงอยากรู้ว่า จะหาตลาดหุ้นที่ถูกประเทศได้อย่างไรใช่ไหมครับ ผมมีข้อมูลที่บ่งชี้ตลาดประเทศไหนที่มีหุ้นดีหุ้นถูกให้ลงทุนและมีโอกาสทำกำไรได้ครับ โดย Jitta Market Prediction ซึ่งเป็นเครื่องมือใช้ AI วิเคราะห์หาตลาดที่น่าลงทุนในปีนี้ 2025 ดังนี้
ตลาดหุ้นแรกที่น่าลงทุน คือ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันคำนวนจากหุ้นคุณภาพที่คัดกรองออกมา 50 ตัว พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีหุ้นถูก 19 ตัว และ หุ้นแพง 31 ตัว ซึ่ง อัตราส่วนหุ้นถูกแพงเท่ากับ 0.61 แต่จะเห็นว่าช่วงเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่หุ้นอเมริกาเริ่มลงเพราะส่วนใหญ่วิตกว่าเริ่มแพงเกินไป แต่ยังไม่แพงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับที่เคยมีมา ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องติดตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 ตลาดก่อนว่า การเติบโตของกำไรประจำไตรมาสแรกนี้จะออกมาเป็นอย่างไร และมีแนวโน้มเป็นอย่างไรหลังสงครามการค้าเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ สัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาลงทุนต่อหรือไม่
ตามมาด้วยหุ้นเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนไทยให้ความสนใจกันค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันอัตราส่วนหุ้นถูกต่อหุ้นแพงอยู่ที่ 0.92 เท่า โดยเป็นหุ้นถูก 24 ตัว และหุ้นแพง 26 ตัว เรียกว่า ถ้าซื้อหุ้นมา 2 ตัว มีโอกาสยิงเป้าได้หุ้นถูก 1 ตัวให้ทำกำไรแน่ๆ นับว่าตลาดอยู่ในช่วงสมเหตุสมผลและปีนี้เป็นจุดวัดใจว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง ท่ามกลางความท้าทายด้านปัจจัยพื้นฐานในระยะยาว กับแผนพัฒนาประเทศมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตามรอยพี่ใหญ่จีนที่อยู่ใกล้ๆ กัน โดยรัฐบาลวางเป้าหมายจะเป็นมังกรน้อยทะยานในอนาคต อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนาม ถือเป็นประเทศที่เติบโตสูงเฉลี่ย 7%
นอกจากนี้ปีนี้ รัฐบาลเวียดนามกำลังปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ในตลาดหุ้น เพื่อให้สามารถยกระดับเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ จากปัจจุบันเป็นตลาดชายขอบ (Frontier Market) หากปีนี้ได้รับการยกระดับขึ้นมาสำเร็จ จะเป็นดาวรุ่งในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนต่อไป เพราะฉะนั้นจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ฝั่งหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่คุณปู่ Warren Bufett เคยเพิ่มน้ำหนักลงทุนจนทำตลาดหุ้นวิ่งขึ้นมาแบบเงียบๆ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่าน แต่ตอนนี้ หุ้นญี่ปุ่นเริ่มปรับฐานแล้ว ดัชนี Nikkei ร่วงจากจุดสูงสุดลงมาเกิน -10% แล้ว และกำลังเข้าสู่ภาวะ “Correction” อย่างเป็นทางการ ซึ่ง Jitta Market Prediction ประเมินได้ว่า ญี่ปุ่นยังมีจำนวนหุ้นถูก 39 ตัว และหุ้นแพง 11 ตัว คิดเป็นอัตราส่วน 3.5 เท่า ถือว่าหุ้นอยู่โซนถูกและผลตอบแทนดี มีโอกาสซื้อหุ้นถูกได้มากกว่าหุ้นแพง
ส่วนหุ้นฮ่องกง ที่มีนักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักลงทุนหุ้นจีนมากกว่าที่จะเข้าไปลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ เพราะฮ่องกงได้รับความเชื่อถือด้านมาตรฐานต่างๆ ของประเทศหลังจากที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษก่อนจะกลับมาอยู่ใต้จีนแผ่นดินใหญ่ในเวลา ซึ่งในปีที่แล้ว ตลาดหุ้นฮ่องกงเริ่มปรับตัวขึ้นมาระดับนึง ขณะที่ Jitta Market Prediction ชี้ว่ามีหุ้นถูก 39 ตัว หุ้นแพง 11 ตัว อัตราส่วน 3.5 เท่า ยังมีโอกาสแต่ไม่ง่ายเท่าปีที่แล้ว
สุดท้าย หุ้นจีนในแผ่นดินใหญ่ มีจำนวนหุ้นถูก 46 ตัว หุ้นแพง 4 ตัว คิดเป็นอัตราส่วน 11.5 เท่า อย่างไรก็ตาม หุ้นจีนแม้จะราคาถูกอยู่มาก ขณะที่เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวกลับมา และรัฐบาลคงเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตั้งเป้าหมาย GDP เติบโต 5% และแผนพัฒนาประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยกำลังสร้างเสาเศรษฐกิจภาคเทคโนโลยีเชิงลึก ทั่วโลกประเมินว่าในอนาคตจีนมีโอกาสนำหน้าสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ในปัจจุบันนับว่าหุ้นจีนยังมีมูลค่า (Valuation) ที่ดีที่สามารถลงทุนได้
แต่ใดๆ แล้ว สิ่งสำคัญ คือ “การจัดสัดส่วนในการลงทุน” ซึ่งการตัดสินใจให้น้ำหนักลงทุนได้นั้น จำเป็นที่คุณจะต้องลงมือทำการบ้านศึกษาข้อมูลสินทรัพย์ประเภทต่างๆ มองหาโอกาสลงทุนการลงทุนในตัวตลาดหุ้นประเทศต่างๆ รวมไปถึงโลกเมกะเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้เช่นกันครับ เช่น เมกะเทรนด์เทคโนโลยี AI พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV เทรนด์เฮลท์แคร์ ฯลฯ ประเทศไหนเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมหรือกำลังก้าวตามเมกะเทรนด์นั้นๆ บ้าง
ถ้าพูดถึงเมกะเทรนด์ ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่กำลังเติบโตล้อตามเมกะเทรนด์นอกจากภาคเทคโนโลยี AI จีนยังเป็นผู้นำพลังงานสะอาด ถือเป็นประเทศที่มีการบริโภคเยอะที่สุดในโลก และมี ecosystem พลังงานสะอาดเยอะที่สุดในโลก นับเป็นอีกเหตุผลที่ “ทรัมป์” ล้มกระดานพลังงานสะอาด เพราะรู้ว่า จีนเป็นผู้นำและสหรัฐฯ จะตามไม่ทันแน่นอนทั้งโซลาร์เซลล์ กังหันลม หรือแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นยิ่งกระตุ้นให้คนใช้พลังงานสะอาด ประเทศที่ได้ประโยชน์ ก็คือ จีน ที่จะมีเศรษฐกิจที่ดียิ่งขึ้นครับ
ดังนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ จึงกลับไปเน้นพลังงานฟอสซิลหรือพลังงานดั้งเดิม เพราะว่าสหรัฐฯ เป็นผู้นำตลาดอยู่ ขณะเดียวกันก็มาเน้นในด้านของ AI ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำ และมองว่าสามารถที่จะส่งออกไปทั่วโลกได้เร็วกว่า จีนเองก็เช่นเดียวกันในโลกหลายปีที่ผ่านมาจึงไม่เน้นรถยนต์สันดาป แต่เน้นเทคโนโลยีใหม่และรถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกัน จีนก็เร่งพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกและเซมิคอนดัคเตอร์เพื่อเป็นฐานการผลิตเทคโนโลยีที่มั่นคง ล่าสุด การเปิดตัว AI โมเดลใหม่ราคาถูกของ DeekSeek ก็กำลังเขย่าสหรัฐฯ อยู่ในเวลานี้
ต่อจากปีนี้เราจะเห็นจีนและสหรัฐฯ สู้กันไปเรื่อยๆ วิธีที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนคือสามารถลงทุนทั้ง 2 ประเทศแต่ต้องจัดน้ำหนักให้ดี เพราะสุดท้ายสิ่งที่การันตีได้ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 แน่นอน
ดังนั้น นอกจากการจัดสัดส่วนทรัพย์สินที่ลงทุนแล้ว เรื่องสำคัญรองลงมาคือ “การกระจายความเสี่ยง” เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า ประเทศไหนจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ซึ่งการหาโอกาสลงทุนในประเทศที่ดัชนีฯ ปรับตัวลงเยอะ จะช่วยให้เห็นผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้
โดยส่วนใหญ่ทั่วโลกจะใช้การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite เป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงการลงทุน แม้แต่ปู่ Warren Bufett นักลงทุนไอดอลสาย VI ของโลกก็จัดพอร์ตลงทุนนี้เช่นกัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 พอร์ต คือ พอร์ตหลัก หรือ Core จะเน้นสร้างผลตอบแทนระยะยาวแบบค่อยเป็นค่อยไปกระจายความเสี่ยงไปหลายๆ ประเทศและหลายๆ สินทรัพย์ เช่น พันธบัตร ตลาดหุ้นใหญ่ๆ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และอีกพอร์ต เป็น Satellite หรือพอร์ตรอง จะเน้นสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นและมีความเสี่ยงสูง โอกาสจะอยู่ในตลาดหุ้นเกิดใหม่ นำโดย จีน เวียดนาม หรือธีม เมกะเทรนด์ต่างๆ
ปัจจุบันนักลงทุนทั่วไปจะเลือกจัด Core & Satellite port อยู่ที่ 80 : 20 จะปลอดภัยในยามตลาดผันผวนสูง เพราะยังมีพอร์ตหลักที่ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำไว้ในสัดส่วนมากๆ พอร์ตจึงมีความผันผวนต่ำกว่าตลาดได้ อย่างไรก็ตาม แนวการจัดพอร์ต Core & Satellite ที่นิยมกันยังมีอีก 2 สูตร คือ ให้น้ำหนักทั้ง 2 พอร์ตเท่าๆ กัน Core & Satellite 50:50 และอีกแบบเป็นการจัดน้ำหนัก Core & Satellite อยู่ที่ 20:80 เพิ่มน้ำหนักในพอร์ตรองเป็นส่วนใหญ่ เพราะคาดหวังผลตอบแทนสูง แลกกับความเสี่ยงสูง เหมาะกับคนที่กล้าได้กล้าเสีย ซึ่งการจัดน้ำหนักลงทุนแต่ละพอร์ต จะขึ้นกับปัจจัยตลาดของสินทรัพย์ที่ลงทุนในแต่ละช่วงเวลาด้วย ซึ่งในสถานการณ์ตลาดผันผวนเช่นเวลานี้ ผมจะแนะนำลูกค้าที่ลงทุนระยะยาว ให้จัดน้ำหนักลงทุนแบบแรก คือ Core & Satellite อยู่ที่ 80 : 20 มากกว่าครับ
ถ้าพูดถึงผลตอบแทนออกมาดีจริงมั้ย ผมขอยกตัวอย่างของ Global ETF ที่ผมบริหารให้ลูกค้า ซึ่งพอร์ต Core และ Satellite จัดสัดส่วน 80:20 สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 11-12% ต่อปี ทั้งนี้ นโยบาย Global ETF จะลงทุนใน หุ้น และ พันธบัตร เป็นหลักครับ โดยในส่วนของหุ้นจะกระจายการลงทุนในหุ้นทั่วโลกด้วยการซื้อดัชนีของตลาดหุ้นต่างๆ ขณะที่พันธบัตร จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และ หุ้นกู้เอกชนชั้นดีและกระจายความเสี่ยงไปหลายร้อยหลายพันบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงที่บริษัทใดบริษัทนึงจะชำระหนี้ไม่ได้ครับ
ถ้าคุณต้องการความมั่นคง ก็ต้องให้น้ำหนักพอร์ต Core เยอะ แม้ผลตอบแทนจะไปช้าแต่ชัวร์ และเติบโตตามเศรษฐกิจโลก แต่หากต้องการรวยเร็ว แต่ก็อาจเจ๊งได้ถ้าไม่แม่นพอ ก็คือ ลงน้ำหนักพอร์ต Satellite ลงทุนหุ้นรายตัวแบบมุ่งเน้น ซึ่งน้ำหนักพอร์ต Satellite ที่เหมาะสมสำหรับการควบคุมความเสี่ยงได้ คืออยู่ที่ 20%ครับ
ทั้งนี้วิธีการจัดพอร์ต Core ทั่วโลกใช้โมเดล MPT (Modern Portfolio Theory) คือ หุ้นเกรดดี หุ้นบริษัทชั้นนำระดับโลก พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งการบริหาร Global ETF จะถือว่าเป็นนโยบายที่ค่อนข้างปลอดภัย และมีความผันผวนไม่มาก เหมาะสำหรับนักลงทุนทั่วไปและเหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว
ผมยังมีอีกหนึ่งตัวช่วยที่มักแนะนำแก่ลูกค้า คือ เพิ่มทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือ DCA อย่างสม่ำเสมอทุกๆ เดือน เพราะจะทำให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 8% ต่อปีในระยะยาว โดยไม่ต้องห่วงเรื่องจังหวะเวลาในการเข้าลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในโลกการลงทุนทุกสินทรัพย์ย่อมมีขึ้นมีลง ซึ่งหากคุณเข้าลงทุนในจังหวะที่ไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะเกิดขาดทุนได้ในช่วงเวลานั้น ผมยกตัวอย่างลูกค้าของผมที่เพิ่งเริ่มลงทุน Global ETF ในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อเจอตลาดที่ร้อนระอุตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนก็พาให้ว้าวุ้นใจกันได้ครับ เพราะปีนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวนมากเป็นพิเศษ ผมแนะนำให้ลูกค้าทำใจให้นิ่งเข้าไว้ ค่อยๆ ลงทุนแบบ DCA ไปเรื่อยๆ ทุกเดือน เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องจังหวะเวลาในการเข้าลงทุนนะครับ ซึ่งเชื่อว่าหากผ่านไป 3-5 ปี ก็น่าจะได้พอร์ต Core ที่แข็งแกร่ง ที่จะทำให้คุณถือได้อย่างสบายใจไปตลอดชีวิตครับ จากนั้นก็ค่อยๆ สร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มด้วยการลงทุนในพอร์ต Satellite ที่เหมาะกับตัวเองครับ
โดยสรุป ในเรื่องของการลงทุน เมื่อเราต้องการจะดูว่า กลยุทธ์การลงทุนใด มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เราไม่ควรจะดูแค่กำไรหรือขาดทุนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ควรจะดูปัจจัยทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน คือ ข้อแรก ผลตอบแทนระยะยาวของกลยุทธ์ลงทุน ข้อที่ 2 ทรัพย์สินที่กลยุทธ์ลงทุน และข้อสุดท้ายคือ จังหวะเวลาในการเข้าลงทุน
เพราะในบางครั้งแม้กลยุทธ์การลงทุนจะดี สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ แต่บางช่วงบางเวลาก็อาจจะสร้างผลขาดทุนได้เช่นกัน ถ้าทรัพย์สินที่ลงทุนนั้นมีความผันผวนสูง เช่น การลงทุนในหุ้น เป็นต้น
เพราะฉะนั้น นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ จะต้องวางแผนรับมือให้ดี มีเป้าหมายที่ชัดเจน กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม รักษาวินัยในการลงทุน และไม่ให้อารมณ์มาควบคุมการตัดสินใจ ที่สำคัญ อย่าลืมทบทวนและปรับกลยุทธ์อยู่เสมอเพื่อให้พอร์ตแข็งแกร่งในทุกสภาวะตลาดด้วย
ผมมั่นใจว่า คุณจะสามารถติดปีกพอร์ตลงทุน ฝ่าวิกฤติความผันผวนไปได้และทำกำไรออกดอกออกผลในระยะยาวสำเร็จตามเป้าหมายแน่นอนครับ