รีเซต

ม.บูรพา พัฒนาแพลตฟอร์ม weSAFE@Home ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว รักษาตัวที่บ้าน

ม.บูรพา พัฒนาแพลตฟอร์ม weSAFE@Home ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว รักษาตัวที่บ้าน
TNN ช่อง16
14 กันยายน 2564 ( 09:21 )
151

วันนี้ (14 ก.ย.64) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ได้ทำการพัฒนาแพลตฟอร์ม weSAFE@Home ที่ดัดแปลงมาจาก แพลตฟอร์ม “กิน อยู่ ดี” ซึ่งพัฒนาโดย รศ.ดร.วิรุฬ ศรีบริรักษ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

แพลตฟอร์ม weSAFE@Home นี้ได้รับการสนับสนุนจาก รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดชลบุรี เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถใช้ได้จริงและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่สิทธิ์รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ให้สามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านหรือกักตัวในชุมชนได้อย่างมั่นใจรวมถึงยังเป็นการแบ่งเบาภาระของทางโรงพยาบาลให้สามารถสงวนเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความจำเป็นต้องรักษาตัวเร่งด่วน

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย จูลเมตต์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา ได้กล่าวว่า สำหรับแพลตฟอร์มweSAFE@Home เป็นการเฝ้าดูแลผู้ป่วยด้วยการใช้เทคโนโลยีผ่านระบบ LINE official โดยใช้พยาบาลอาสาจากกลุ่มคณาจารย์ นิสิตนักศึกษาพยาบาล ในการดูแลและติดตามอาการของผู้ป่วยระยะไกลตลอด 24 ชม. ผ่านแพลตฟอร์มนี้

โดยสามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นและต้องเฝ้าระวัง รายงานผลต่าง ๆ ส่งตรงถึงทีมแพทย์และพยาบาลที่ดูแลรักษาได้อย่างใกล้ชิดและสามารถประเมินอาการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

อีกทั้งยังมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตนเองในเรื่องต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาการรักษา เป็นการลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าและช่วยให้แพทย์และพยาบาล สามารถดูแลผู้ป่วยจำนวนมากได้พร้อม ๆ กัน 

ปัจจุบันระบบแพลตฟอร์ม weSAFE@Home ได้ขยายไปใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยถึง 12 จังหวัด อาทิ กทม. สุพรรณบุรี เชียงราย ชลบุรี ระยอง นราธิวาส สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น ผ่านการฝึกอบรมแนะนำและให้คำปรึกษาจากทีมงานคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพาอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ตอนนี้มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในระบบดังกล่าวมากกว่า 15,000 คน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง