รีเซต

วิกฤตความไว้ใจในโลกออนไลน์: เมื่อสถิติเด็กหายสะท้อนปัญหาการคุกคามในโลกดิจิทัล

วิกฤตความไว้ใจในโลกออนไลน์: เมื่อสถิติเด็กหายสะท้อนปัญหาการคุกคามในโลกดิจิทัล
TNN ช่อง16
18 ตุลาคม 2567 ( 09:26 )
24

ในยุคที่การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานกลับกลายเป็นประเด็นท้าทายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าในปี 2566 มีการรายงานเด็กหายสูงถึง 296 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และนับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา 


เมื่อวิเคราะห์ลงลึกถึงสาเหตุของการหายตัวไป พบว่าเด็กจำนวนมากถึง 58% เลือกที่จะสมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยมีปัจจัยหลักมาจากความขัดแย้งภายในครอบครัว รวมถึงการหมกมุ่นอยู่กับการคบหาเพื่อนหรือการเล่นเกมออนไลน์ ขณะที่ 19% มาจากปัญหาสุขภาพจิตและพัฒนาการทางสมอง ส่วนกรณีการลักพาตัวนั้น แม้จะพบเพียง 5 เคสในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล เนื่องจากเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกนำไปแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ


อิทธิพลของกลุ่มเพื่อนและสังคมออนไลน์เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ ที่มักจะกระตุ้นให้เด็กตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดคือเด็กอายุ 11-15 ปี และ 16-18 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องเผชิญกับความผันผวนทางอารมณ์และความสัมพันธ์


นอกจากนี้ การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ก็มักจะเป็นสาเหตุให้เด็กขาดการดูแลเอาใจใส่ จนท้ายที่สุดเลือกออกจากบ้านไปใช้ชีวิตข้างนอก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาเข้าไปพัวพันกับการคุกคามและการล่อลวงต่างๆ ในโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น


ตัวเลขและสถิติที่ถูกนำเสนอข้างต้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคม จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งภายในและภายนอกบ้านให้กับเด็ก การสื่อสารทำความเข้าใจ พร้อมเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพได้ในระดับหนึ่ง


แต่การแก้ปัญหาที่ต้นตอ คงหนีไม่พ้นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน ผ่านการให้ความรู้เรื่องการใช้สื่อออนไลน์อย่างเหมาะสม การปกป้องข้อมูลส่วนตัว และการเลือกคบเพื่อนในโลกไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้พวกเขาหลงเชื่อคำชักจูงและกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มแสวงหาประโยชน์


ขณะเดียวกัน ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างจริงจังและรวดเร็ว พร้อมทั้งเพิ่มความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการคัดกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม


การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมดิจิทัลอาจมาพร้อมกับความเสี่ยงที่หลากหลาย แต่เราทุกคนในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม ต่างมีบทบาทสำคัญในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่ที่เฝ้าระวังบุตรหลาน ครูอาจารย์ที่ให้ความรู้กับเยาวชน หรือแม้แต่ตัวเด็กเองที่ต้องเรียนรู้ถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เพื่อป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อในวังวนของอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโลกออนไลน์ที่น่าอยู่และปลอดภัยอย่างแท้จริงในที่สุด


ภาพ Freepik 

เรียบเรียงโดย ยศไกร รัตนบรรเทิง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง