รีเซต

สนามบินใหญ่สุดในเยอรมนี ทำรันเวย์ด้วยยางมะตอยจากเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ทนทานกว่าเดิม 10 เท่า

สนามบินใหญ่สุดในเยอรมนี ทำรันเวย์ด้วยยางมะตอยจากเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ทนทานกว่าเดิม 10 เท่า
TNN ช่อง16
5 พฤศจิกายน 2567 ( 16:00 )
28

สนามบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนีอย่างสนามบินแฟรงก์เฟิร์ต กำลังทดสอบรันเวย์สนามบินแห่งอนาคต ที่สร้างขึ้นมาจากคอนกรีตยางมะตอย (Asphalt Concrete) ที่มีส่วนผสมของเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ (Cashew Shells) 


ที่มา : Reutersconnect


โดยปกติคอนกรีตยางมะตอยจะผลิตขึ้นมาโดยใช้ส่วนผสมจากวัสดุมวลรวม (Aggregate) หรือ หินบด กรวด ทราย ฯลฯ ผสมเข้ากับ บิทูเมน (Bitumen) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการแปรรูปน้ำมันดิบ มีลักษณะเหนียว มีสีดำ และมีความหนืดสูง โดยในบิทูเมนนี้ จะประกอบไปด้วยอนุภาคแข็ง ลักษณะเป็นผงอย่าง แอสฟัลทีน (Asphaltenes) กับมัลทีน (Maltenes) ที่มีลักษณะเป็นของเหลว ช่วยให้บิทูเมนมีความยืดหยุ่นและเกาะติดกับวัสดุมวลรวมได้


แต่บริษัทสาร์ตอัปของเยอรมมนีชื่อ บีทูสแควร์ (B2SQUARE) ได้คิดค้นนวัตกรรมที่เรียกว่า ไบโอบิทูเมน (BioBitumen) ด้วยวิธีใหม่ ที่สามารถแยกแอสฟัลทีนและมัลทีนออกจากกัน และส่งผลให้สามารถใช้วัสดุอื่น ๆ อย่างเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มาเป็นส่วนผสมในบิทูเมนได้ 


สนามบินแฟรงก์เฟิร์ตรายงานในข่าวประชาสัมพันธ์ว่าบริษัท บีทูสแควร์ (B2SQUARE) ได้สร้างไบโอบิทูเมนโดยการผสม เรซินไฮโดรคาร์บอน หรือ สารเหนียวที่มีคุณสมบัติยึดติดชนิดหนึ่งที่ได้มาจากธรรมชาติ เข้ากับสารสกัดอินทรีย์จากเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ 


ทั้งนี้เหตุผลที่เลือกใช้เปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เนื่องจากมีความทนทาน และสามารถลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ คือ ระหว่างการเจริญเติบโต ต้นมะม่วงหิมพานต์จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เปลือกของเม็ดจึงกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้จะถูกทำให้เป็นกลางด้วยวิธีการพิเศษที่บริษัทพัฒนาขึ้น จากนั้นจึงถูกนำไปเป็นส่วนผสมสร้างยางมะตอย เป็นการฝังก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในพื้นถนน


B2SQUARE อ้างว่าไอโอบิทูเมนของบริษัทมีความทนทานมากกว่าบิทูเมนธรรมดาถึง 10 เท่า และไบโอบิทูเมน 1,000 กิโลกรัม สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 1,561 กิโลกรัม


แอ็กเซล คอนราด (Axel Konrad) ผู้จัดการโครงการฝ่ายบริการสนามบินแฟรงก์เฟิร์ตกล่าวว่า บิทูนเมนที่ผลิตจากน้ำมันดิบมักมีคุณภาพผันผวน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากคุณภาพน้ำมันดิบ ดังนั้นการสร้างไบโอบิทูเมนจึงช่วยทำให้ยางมะตอยมีคุณภาพดีขึ้นได้


ปัจจุบันสนามบินแฟรงก์เฟิร์ตกำลังปูผิวรันเวย์สนามบินยาว 200 เมตร ด้านหนึ่งปูด้วยยางมะตอยที่มีส่วนผสมของไบโอบิทูเมน และอีกด้านปูด้วยยางมะตอยธรรมดา ซึ่งจะทำให้สามารถเปรียบเทียบคุณภาพของยางมะตอยทั้ง 2 ชนิดได้ หากการทดสอบประสบความสำเร็จ ก็อาจจะปูทางไปสู่การใช้งานพื้นยางมะตอยแบบใหม่ ที่ทำให้สนามบินแฟรงก์เฟิร์ตก้าวหน้าสู่ความยั่งยืนมากขึ้น


ทั้งนี้สนามบินแฟรงก์เฟิร์ตตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็น 0 อย่างช้าที่สุดภายในปี 2045 และบางทีไบโอบิทูเมนจากเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์อาจเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการตามแผนดังกล่าวนี้ก็เป็นได้


ที่มา : Reutersconnectที่มา : Reutersconnect


ที่มาข้อมูล Reutersconnect, Airport-World

ที่มารูปภาพ Reutersconnect

ข่าวที่เกี่ยวข้อง