ขั้นตอนการรักษาโควิด "เจอ แจก จบ" แตกต่างจาก Home Isolation อย่างไร รักษาได้ที่โรงพยาบาลไหนบ้าง
โควิดสายพันธุ์โอมิครอน หรือ โอไมครอน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดในไทยสูงขึ้นแตะ 20,000 รายทุกวัน จากการตรวจโควิด RT-PCR และตรวจ ATK ทำให้ประชาชนเริ่มเข้าสู่ระบบการรักษาโควิดมากขึ้น โดยสธ. ได้ปรับการรักษาในรูปแบบ "เจอแจกจบ" รักษาโควิดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่มตั้งแต่ 4 มีนาคม 2565 พร้อมให้ให้โรงพยาบาลในสังกัด 14 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ จัดบริการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดแบบผู้ป่วยนอก(OPD)
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอน มีอาการเบาถึงไม่มีอาการ หรือเรียกอีกอย่างว่า "ผู้ป่วยสีเขียว" มีมากถึง 90% ของผู้ป่วยในแต่ละวัน หากยังเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลย่อมส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในภาวะที่เรียกว่า "ล้นเตียง" ได้ ดังนั้น แนวทางการรักษาผู้ป่วยสีเขียวแบบ "เจอ แจก จบ" จึงถูกนำมาใช้เสริมเพิ่มเติมกับแบบโฮมไอโซเลชั่น หรือ HI รักษาตัวที่บ้านและคอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น หรือ CI รักษาตัวในชุมชน
“เจอ แจก จบ” คืออะไร
หลังจากผู้ที่สงสัยป่วยโควิด-19 ตรวจ ATK แล้วหากพบผลเป็นบวก (เจอ) แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร (แจก) ได้แก่ 1.ยาฟ้าทะลายโจร 2.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก 3.ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นโรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง (จบ)
หากพบว่าไม่มีภาวะเสี่ยง จะเข้าสู่ระบบการรักษาตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 คือ รักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านตามแนวทาง “เจอ-แจก-จบ” จะได้รับการจับคู่กับสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก ด้วยระบบ tele-health
ที่มา "เจอ แจก จบ"
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถเข้ารับการรักษาในลักษณะเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) คือ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ดูแลรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) ได้ นี่คือที่มาของคำว่า เจอ แจก จบ ที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข นำมาอำนวยความสะดวกให้บริการกับประชาชน อีกอย่างทางกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้มีการจัดการโรคโควิด -19 จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคลดความรุนแรงลง มีระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพและประชาชนมีภูมิต้านทานที่เพียงพอ โรคไม่ได้มีภาวะอันตราย
ทำไมผู้ป่วยสีเขียวติดเชื้อโอมิครอน ควรรักษาตัวทึ่บ้าน
- ผู้ป่วยที่จะดูแลตัวเองที่บ้าน ไม่มีอาการถึงอาการน้อย ไม่มีภาวะเสี่ยง
- ผู้ป่วย 90% ไม่มีอาการถึงมีอาการน้อย
- ผู้ป่วยหนักถึงเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยหรือพวกมีโรคประจำตัว (ภาวะเสี่ยง)
- ผู้ป่วยสูงวัย - ผู้ป่วยมีโรคอื่นร่วม มีภาวะเสี่ยง แนวทางการรักษาจะรับไว้ในโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยสีเขียว เมื่อดูแลตัวเองที่บ้าน มีโอกาสน้อยกว่า 1% ที่จะกลายเป็นสีเหลือง หรืออาการหนักขึ้นกว่าเดิม
- ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะก่อนหน้านี้ใช้งบประมาณถึง 50,000 บาทต่อคน สำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน
- ลดภาระเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำงานหนักมากว่า 2 ปีแล้ว
ขั้นตอนการรักษาโควิด-19 แบบ "เจอ แจก จบ"
- หากมีอาการทางเดินหายใจหรือประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงให้ตรวจด้วย ATK ที่อาจหามาด้วยตัวเอง หรือทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. แจกฟรี (สามารถรับได้ผ่านการตอบคำถามประเมินความเสี่ยงทางแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง จากนั้นให้ไปขอรับได้ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมกระจายชุดตรวจ ATK ได้แก่ ร้านยา คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด หน่วยเทคนิคการแพทย์ฯ หรือหน่วยบริการอื่นกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งจะแจกให้คนละ2 ชุด สำหรับผู้ที่ไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน สามารถขอรับโดยตรงได้ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว)
- เมื่อตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลเป็นบวก ให้เข้าระบบการรักษาด้วยการโทรไปยังสายด่วน สปสช.1330 ที่มีการเพิ่ม Robot Screening ช่วยคัดกรอง
- จากนั้นให้ไปรับบริการที่คลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) หรือคลินิกสงสัยผู้ติดเชื้อ (PUI) ที่มีในทุกโรงพยาบาล หากมีภาวะเสี่ยง ให้โทรติดต่อโรงพยาบาลที่มีสิทธิการรักษาเพื่อประเมินภาวะเสี่ยง ได้แก่ เป็นกลุ่ม 608 มีโรคประจำตัวเสี่ยงสูงเรื้อรัง หรือตั้งครรภ์ โดยอาการที่ติดเชื้อโควิดที่มีอาการไม่มาก จะให้เข้าระบบการกักตัวที่บ้าน ชุมชน กักตัวมี่โรงแรม และฮอสปิเทล แต่หากมีภาวะเสี่ยงและอาการรุนแรงจะส่งรับการรักษาในโรงพยาบาล
- จากทั้ง 3 ขั้นตอน เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่า มีความพร้อมและไม่มีภาวะเสี่ยง สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้าน หรือแบบ เจอ แจก จบ โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาตามระดับอาการของโรค ใน 3 สูตร ได้แก่
- ยาฟาวิพิราเวียร์
- ยาฟ้าทะลายโจร
- ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก
รักษาโควิด เจอ แจก จบ กับ Home Isolation เหมือนหรือต่างกัน
อย่างที่กล่าวในช่วงต้นว่าการรักษาแบบ เจอ แจก จบ เป็นแนวทางเสริมเพิ่มเติมจาก HI/CI ทั้งสองแบบจึงมีส่วนคล้ายและต่างกัน
การโทรติดตามอาการจากบุคลากรสาธารณสุข
เจอแจกจบ ทางแพทย์หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขโทรติดตามอาการผู้ป่วยติดเชื้อ 1 ครั้ง ในรอบ 48 ชั่วโมง แต่ HI /CI มีการโทรติดตามอาการทุกวัน โดยการโทรติดตามอาการ 1 ครั้งใน 48 ชั่วโมงนี้จะช่วยทำให้แพทย์หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข1คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้นในรอบ 48 ชั่วโมง ซึ่งสอดรับกับจำนวนผู้ป่วยสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลทางการแพทย์ที่ประเมินแล้วว่า การโทรติดตามอาการผู้ป่วย 1 ครั้งในรอบ 48 ชั่วโมง ถือว่าเพียงพอสำหรับผู้ติดเชื้อไม่มีภาวะเสี่ยงและได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว
อุปกรณ์ตรวจประเมิน
เจอ แจก จบ ไม่มีให้ แต่แบบ HI/CI จะได้รับอุปกรณ์เพื่อติดตามอาการประจำวัน
บริการอื่นๆ
เจอ แจก จบ ไม่มีบริการส่งอาหารฟรีให้ 3 มื้อ แต่แบบ HI/CI มีบริการให้ในส่วนนี้
การแยกกักตัวที่บ้าน
ทั้ง เจอแจกจบและ HI /CI เป็นผู้ป่วยนอกที่ต้องแยกกักตัวที่บ้านหรือชุมชน จนครบตามกำหนด
การจ่ายยา
ทั้งสองแบบ แพทย์จะจ่ายยาให้ตามระดับอาการของโรค ใน3 สูตรอย่างที่กล่าวไว้
ระบบส่งต่อเมื่อมีอาการแย่ลง
ทั้งสองแบบหากผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น ผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับมายังโรงพยาบาล และจะได้รับการส่งตัวต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
โรงพยาบาลรักษาโควิด "เจอ แจก จบ" มีที่ไหนบ้าง
โรงพยาบาลในสังกัด 14 จังหวัดรอบ กทม. ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, นครนายก, สิงห์บุรี, อ่างทอง, นครปฐม, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตและสังกัดกรมควบคุมโรค เพิ่มศักยภาพให้การดูแลแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” เพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป รองรับบริการได้ประมาณ 18,650 รายต่อวัน
ติดโควิดโอมิครอน ทำอย่างไร
ผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบว่าขึ้น 2 ขีด ผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิด-19 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องให้ตรวจยืนยันซ้ำด้วย RT-PCR) ดำเนินการต่ออย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
โทรศัพท์
- ต่างจังหวัด สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วนเกี่ยวกับโควิด-19 ประจำอำเภอหรือจังหวัด (ดูรายละเอียดที่เฟสบุ๊กหรือเว็บไซต์สำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัด
- กทม. โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ก กรุงเทพมหานคร: https://bit.ly/3FBOgvw ) หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT หรือคลิก https://bit.ly/3Iuw7Si
- สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 (ส่งให้สถานพยาบาลคัดกรองเบื้องต้น)
หมายเหตุ :
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านกับสายด่วน 1330 รวมถึงช่องทางไลน์และเว็บไซต์ สปสช. หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการภายใน 6 ชั่วโมง ขอให้ดูแลตัวเองเบื้องต้นไปตามอาการ หากมีไข้หรือไอ กินยาลดไข้ ยาแก้ไอ และผู้ติดเชื้อโควิดสามารถไปโรงพยาบาลตามสิทธิรักษาหรือใกล้บ้าน
แนะนำให้ โทร.นัดหมายก่อน เพื่อเข้าระบบการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ ได้ และกลับมากักตัวที่บ้านอีก 7-10 วัน ตามที่แพทย์แนะนำ
ไปโรงพยาบาลตามสิทธิ
- สิทธิบัตรทอง รักษาทุกที่ตามนโยบายยกระดับบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการในระบบบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยที่หน่วยบริการจะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาเหมือนในอดีต
ตัวอย่างหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น - สิทธิประกันสังคม ไปโรงพยาบาลตามสิทธิของท่านหรือโรงพยาบาลที่ท่านลงทะเบียนเลือกไว้
- สิทธิข้าราชการ ไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลภาครัฐ
ข้อมูล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<