รีเซต

มนุษย์โบราณอาจไม่ได้ขว้างหอกล่าช้างแมมมอธ แต่อาจค้ำหอกกับพื้น วิจัยเผยเสียหายรุนแรงเท่ากระสุน

มนุษย์โบราณอาจไม่ได้ขว้างหอกล่าช้างแมมมอธ แต่อาจค้ำหอกกับพื้น วิจัยเผยเสียหายรุนแรงเท่ากระสุน
TNN ช่อง16
29 กันยายน 2567 ( 11:28 )
24
มนุษย์โบราณอาจไม่ได้ขว้างหอกล่าช้างแมมมอธ แต่อาจค้ำหอกกับพื้น วิจัยเผยเสียหายรุนแรงเท่ากระสุน

มนุษย์ยุคน้ำแข็งในทวีปอเมริกาเหนือล่าช้างแมมมอธจนเกือบสูญพันธุ์ หนึ่งในอาวุธที่ใช้คือหอกที่สร้างจากหิน เรียกว่า ปลายแหลมโคลวิส หรือ Clovis Point ความเข้าใจก่อนหน้าคิดว่าหอกถูกใช้โดยการขว้างใส่เหยื่อ แต่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าวิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุดในการใช้หอกล่าแมมมอธคือการตั้งค้ำหอกไว้กับพื้น เพื่อรอให้ช้างแมมมอธที่พลาดท่าหลงทางวิ่งพุ่งเข้าใส่หอกด้วยความเร็ว 


Clovis Point ที่มา : Plos

Clovis Point ที่มา : Plos


ปลายแหลมโคลวิส เป็นสิ่งประดิษฐ์ดึกดำบรรพ์ที่พบบ่อยที่สุดจากแหล่งโบราณคดีในทวีปอเมริกาเหนือ มีอายุประมาณ 13,000 ปี โดยมีลักษณะเป็นหินที่ถูกทำให้ขอบมีความคม ปลายแหลม สร้างจากหินหลายชนิด เช่น หินเชิร์ต หินฟลินต์ หินแจสเปอร์ มีขนาดตั้งแต่เล็กเท่าหัวแม่มือ จนขนาดเทียบเท่ากับสมาร์ตโฟน การค้นพบบางแหล่งพบว่าปลายแหลมโคลวิสบางอันฝัง อยู่ในโครงกระดูกแมมมอธด้วย แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการใช้หอกยังคงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกัน บางทฤษฎีกล่าวว่าใช้หอกเพื่อล้อมและแทงแมมมอธ ในขณะที่บางทฤษฎีบอกว่าหอกเหล่านี้ถูกใช้ล่าสัตว์ที่บาดเจ็บเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ระบุว่า หินที่จะนำมาใช้เป็นปลายแหลมโคลวิสนี้มีจำนวนจำกัด มนุษย์ยุคน้ำแข็งจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ดังนั้นการขว้างใส่แมมมอธ จึงเป็นเรื่องที่อาจเป็นไปได้ยาก และในการทดลองยังพบอีกว่า การขว้างหอกปลายแหลมใส่แมมมอธที่มีน้ำหนักตัวกว่า 9 ตัน อาจให้ความรู้สึกไม่ต่างจากเข็มทิ่ม ซึ่งไม่เพียงพอที่จะล้มแมมมอธลงได้


งานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS One ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2024 จึงแสดงให้เห็นว่านักล่าอย่างมนุษย์ยุคน้ำแข็ง น่าจะยันหอกไว้กับพื้นและเอียงปลายหอกโคลวิสขึ้นไปด้านบนเพื่อแทงแมมมอธที่กำลังพุ่งเข้ามา โดยจุน ซุนเซรี (Jun Sunseri) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า พลังงานประเภทที่สร้างขึ้นได้ด้วยแขนมนุษย์ เทียบไม่ได้กับพลังงานประเภทที่สัตว์พุ่งเข้ามา และมีความแตกต่างของระดับพลังค่อนข้างมาก โดยนักวิจัยกล่าวว่าแรงจากการวางหอกลักษะนี้ จะทำให้หอกแทงเข้าไปในร่างกายของเหยื่อลึกขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่สัตว์ยุคก่อนประวัติที่แข็งแกร่งที่จะทำได้


นักวิจัยได้ใช้การศึกษาจากประวัติศาสตร์สงครามในอดีตที่มีการอาวุธหอกปลายแปลมวางในมุมองศาเฉียงกับพื้นดิน เพื่อหยุดการวิ่งเข้าใส่ของม้าศึกฝ่ายตรงข้าม ซึ่งวิธีการนี้มีใช้ในหลายกองทัพในอดีต ร่วมกับการทำการศึกษาทดลองโดยใช้เครื่องมือตรวจสอบในยุคปัจจุบัน




ระบบทดสอบหอกแบบค้ำยัน ที่มา : Plos


ระบบทดสอบหอกแบบค้ำยัน ที่มา : Plos

นักวิจัยได้สร้างแท่นทดสอบเพื่อประเมินว่าระบบหอก จะส่งผลกระทบต่อแรงของสัตว์ที่เข้ามาใกล้อย่างไร ผลลัพธ์พบว่าปลายของหอกที่ตั้งค้ำยันไว้กับพื้นรอให้สัตว์พุ่งเข้ามา จะส่งผลเหมือนกับที่กระสุนหัวรู (Hollow-Point Bullets) ในยุคปัจจุบัน เจาะทะลวงเข้าไปสร้างบาดแผลให้กับแมมมอธ ควายป่า หรือเสือเขี้ยวดาบ


สก็อตต์ ไบแรม (Scott Byram) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า การออกแบบอาวุธของชนพื้นเมืองอเมริกันโบราณนี้เป็นนวัตกรรมที่น่าทึ่งเกี่ยวกับกลยุทธ์การล่าสัตว์ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเฉลียวฉลาดของชาวพื้นเมืองยุคแรก ๆ ที่สามารถอยู่ร่วมกับสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น แมสโทดอนและแมมมอธในภูมิประเทศที่หนาวเหน็บได้ 


ที่มาข้อมูล Independent, Discovermagazine, PLOS

ที่มารูปภาพ PLOS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง