ทูตจีนประจำประเทศไทย มองสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเพราะต้องการประโยชน์ฝ่ายเดียว

หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย ได้แสดงทัศนคติเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ หรือ Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ ที่สินค้านำเข้าจากจีนถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 145% โดยอ้างว่าจีนทำการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นธรรม ทำให้สหรัฐฯ ต้องขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลในแต่ละปี ซึ่ง หาน จื้อเฉียง มองว่าการค้าระหว่างประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรและข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การค้าขายที่สมัครใจและเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
หาน จื้อเฉียง ยกตัวอย่างว่า การที่บริษัทอเมริกันเลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตฮาร์ดดิสก์แล้วนำกลับไปขายในสหรัฐฯ ก็เพราะไทยมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า หากคิดว่าไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ และตัดสินว่าไทยมีการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ และสมควรถูกขึ้นภาษี ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว การที่สหรัฐฯ เกินดุลในภาคการค้าบริการกับคู่ค้าทั่วโลกมากถึง 295,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล จะถือว่าสหรัฐฯ ไม่เป็นธรรมต่อคู่ค้าทั่วโลกหรือไม่ และคู่ค้าทั่วโลกควรลงโทษสหรัฐฯ หรือไม่ ดังนั้น การขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ จึงไม่สอดคล้องกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
การแบ่งงานกันทำและการค้าเสรีระหว่างประเทศต่าง ๆ คือรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ เองก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบการค้าโลก ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้บริโภคสินค้าคุณภาพดี ราคาคุ้มค่าจากทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ครองความได้เปรียบในภาคการเงิน เทคโนโลยี และด้านอื่น ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หาน จื้อเฉียง ได้อ้างอิงคำพูดของ โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่เคยเขียนบทความระบุอย่างชัดเจนว่า “สหรัฐฯ คือผู้ชนะรายใหญ่ที่สุดในเวทีการค้าโลก”
สหรัฐฯ ใช้ภาษีเป็นอาวุธในการบีบบังคับคู่ค้าจนถึงขีดสุดและแสวงหาผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แท้จริงแล้ว นี่คือการใช้อำนาจการเมืองเข้าครอบงำเศรษฐกิจและการค้า อันเป็นการกดดันฝ่ายเดียวต่อคู่ค้าอย่างไม่เป็นธรรม ทั่วโลกมี 190 กว่าประเทศ ลองจินตนาการดูว่า หากทุกประเทศต่างคิดว่าประเทศของตนเองต้องมาก่อน และหลงเชื่อในสถานะที่มีอำนาจที่แข็งแกร่ง โลกนี้จะถอยกลับไปสู่ยุคแห่งกฎป่า ประเทศเล็กและประเทศที่อ่อนแอจะกลายเป็นผู้รับเคราะห์ และระเบียบกติกาสากลจะถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง
ในส่วนของคำถามที่ว่า แล้วจีนจะรับมือกับการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อย่างไร หาน จื้อเฉียง บอกว่า แก่นแท้ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือการได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นคู่ค้าสำคัญระหว่างกันทั้งด้านการค้าสินค้าและการค้าบริการ ตลอดจนการลงทุนระหว่างกัน การรักษาความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างสองประเทศ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อทั้งจีนและสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นคุณต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย ข้อเท็จจริงพิสูจน์แล้วว่า เมื่อจีนกับสหรัฐฯ ร่วมมือกัน ทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ แต่หากปะทะกัน ย่อมเสียหายทั้งคู่ สงครามการค้าย่อมไม่มีผู้ชนะ ลัทธิคุ้มครองก็ไม่ใช่ทางออก ความสำเร็จของจีนและสหรัฐฯ ต่างเป็นโอกาสสำหรับอีกฝ่าย มิใช่ภัยคุกคามต่อกันอย่างแน่นอน
จีนไม่ประสงค์จะทำสงครามภาษี แต่หากมีคนบังคับเรียกเก็บภาษีอย่างไม่มีเหตุผลกับจีน จีนก็จำเป็นต้องตอบโต้อย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของจีน และเพื่อปกป้องระเบียบการค้าเสรีของโลก รวมถึงความยุติธรรมและความเป็นธรรมของมนุษยชาติ
สหรัฐฯ เป็นผู้เริ่มต้นสงครามการค้า ท้ายที่สุดกลับส่งผลเสียทั้งต่อผู้อื่นและตัวเอง ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบเป็นอันดับแรก ผลการวิจัยของสถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) ระบุว่า ท้ายที่สุด ต้นทุนด้านภาษีกว่า 90% จะตกที่ผู้นำเข้า ธุรกิจปลายน้ำ และผู้บริโภคในสหรัฐฯ ความผันผวนของตลาดหุ้นและพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เป็นเหมือนรถไฟเหาะในช่วงนี้ ก็ได้สะท้อนถึงความจริงข้อนี้แล้ว
หาน จื้อเฉียง ทิ้งท้ายว่าจีนจะยังคงเดินหน้าขยายการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง และแบ่งปันโอกาสแห่งการพัฒนากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จีนมีประชากร 1.4 พันล้านคน และมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่เกือบ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จีนยินดีต้อนรับผลิตภัณฑ์คุณภาพดีจากประเทศไทยให้เข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น ฝ่ายจีนจะสนับสนุนให้รัฐบาลท้องถิ่น องค์กรภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น อีกทั้งจะสนับสนุนให้บริษัทจีนในประเทศไทยใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุตสาหกรรมในท้องถิ่นของไทยให้เต็มที่ ร่วมมือกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย รวมถึงส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวของไทย จีนพร้อมจับมือกับไทยเพื่อสร้างต้นแบบแห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่เอื้อประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มความมั่นคงภายใต้สถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน และเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่การเติบโตของเศรษฐกิจโลก